ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่เผยเห็นถึงสภาพก่อนและหลังจากที่น้ำในเขื่อนโนวา คาโคฟกาไหลเข้าท่วมพื้นที่ต่างๆ ในแคว้นเคอร์ซอน กินพื้นที่กว่า 600 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามของบ้านเรา จากภาพเห็นได้ชัดว่าบางพื้นที่ที่เคยเป็นแผ่นดินมีอาคารบ้านเรือน
ต้นไม้ ทุ่งนา ตอนนี้กลายเป็นผืนน้ำทั้งหมด มีเพียงหลังคาของอาคารบ้านเรือนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเท่านั้น
ผู้แทนรัสเซีย-ยูเครน โทษกันไปมาใน UNSC ปมเขื่อนแตก
โรงไฟฟ้า-คาบสมุทรไครเมีย อาจเจอผลกระทบจากเขื่อนแตก
เมื่อไปดูภาพถ่ายมุมสูงก็จะพบว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นในแคว้นเคอร์ซอนค่อนข้างหนักหนาสาหัส อาคารบ้านเรือนของประชาชนในบางพื้นที่จม
อยู่ใต้น้ำทั้งหลัง บางหลังที่สูงหรือมีหลายชั้นพอมองเห็นแค่ส่วนหลังคาเท่านั้น ด้านชาวเคอร์ซอนที่ยังติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมก็ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เนื่องจากไม่มีเรือพายออกไปยังที่อื่นๆ และภาครัฐก็ให้ความช่วยเหลือได้ไม่ทั่วถึง เพราะต้องใช้เรือขนอุปกรณ์ยังชีพเข้าไปในพื้นที่
ภาพประชาชนในเมืองโอเลชกีในพื้นที่ปีกตะวันออกของแคว้นเคอร์ซอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัสเซียครอบครอง ชาวบ้านกำลังรับน้ำดื่มจากโดรนที่ทางการยูเครนส่งเข้าไปเพื่อสำรวจและช่วยเหลือประชาชน
ส่วนบางพื้นที่ที่ระดับน้ำยังไม่เพิ่มสูงมาก หน่วยงานของทางการยูเครนก็เร่งทำงานแข่งกับเวลาเพื่อพาประชาชนโดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิงและคนชรา ออกจากพื้นที่ก่อนระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถอพยพได้
ทางการยูเครนเปิดเผยว่าศูนย์ที่พักพิงชั่วคราวจะตั้งอยู่ที่แคว้นมิโคลายิฟ ถัดออกมาทางทิศตะวันตกของแคว้นเคอร์ซอน โดยประชาชนที่อพยพมาตามเส้นทางต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยรถไฟหรือรถยนต์ ขณะนี้ได้เริ่มทยอยเดินทางไปถึงศูนย์พักพิงชั่วคราวตั้งแต่เมื่อวาน ( 7 มิ.ย.)
นอกจากอพยพคนแล้ว เจ้าหน้าที่อาสาสมัครของยูเครนบางส่วนยังต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลาเพื่ออพยพสัตว์เลี้ยงและสัตว์จรจัดที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมด้วย ภาพของความช่วยเหลือสัตว์ซึ่งมีทั้งสุนัขและแมวเป็นไปอย่างทุลักทุเล สัตว์บางตัวเปียกน้ำเนื่องจากอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง อาสาสมัครได้ใช้วิธีจับสุนัขและแมวใส่กรงสัตว์ ก่อนนำขึ้นรถเพื่ออพยพออกจากพื้นที่
นอกจากเหตุการณ์เขื่อนแตกครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อทั้งคนและสัตว์ในพื้นที่ทางตอนใต้ของเขื่อนแล้ว ล่าสุดบรรดานักสิ่งแวดล้อมและนักธรรมชาติวิทยาได้ออกมาประเมินว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ได้ทำลายระบบนิเวศอย่างหนัก และการฟื้นฟูระบบนิเวศอาจต้องใช้เวลานาน
ภาพที่เกิดขึ้นหลังจากเขื่อนโนวา คาโคฟกาแตก ปลาจำนวนหลายพันตัวขึ้นมาเกยตื้นตายบนชายฝั่งของอ่างเก็บน้ำคาโคฟกา
สาเหตุที่ทำให้ปลาตายมากเช่นนี้ เป็นเพราะน้ำในอ่างเก็บน้ำลดระดับลงอย่างรวดเร็ว จนแม้แต่ปลาก็ยังไม่สามารถว่ายลงไปที่น้ำลึกเพื่อหนีได้ทัน
ขณะเดียวกัน เดนีส ซูซาเยฟ นักสิ่งแวดล้อมจากองค์การกรีนพีซระบุว่าหายนะที่เกิดขึ้นครั้งนี้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เนื่องจากพื้นที่ในแคว้นเคอร์ซอนถูกน้ำท่วม มีพื้นที่ถึง 48 แห่งที่อยู่ภายใต้การคุ้มครอง และพื้นที่เหล่านั้นมีสัตว์ใกล้สูญพันธ์อยู่
นักสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซรายนี้ระบุว่า สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจสูญพันธ์ไปจากพื้นที่หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเพราะเขื่อนแตก ส่วนสัตว์บางชนิดอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานถึง 10 ปี
นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางตอนใต้ของเขื่อนแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่หลายฝ่ายยังคงถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกที่เขื่อนแห่งนี้แตกคือ ใครคือผู้ลงมือก่อเหตุทำลายเขื่อนจนนำมาสู่หายนะด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ท่ามกลางสงคราม เมื่อวานนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนออกมาแสดงความเห็นว่ามีความเป็นไปได้พอกันที่รัสเซียหรือยูเครนจะเป็นคนลงมือทำลายเขื่อน
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากชาติตะวันตกบางรายได้ออกมาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าเขื่อนแห่งนี้อาจถูกทำลายจากภายใน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัสเซียครอบครอง นิค กลูแม็ค ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดแห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์
เออร์บานา-แชมเปญ อธิบายกับสำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์ว่า การโจมตีตัวเขื่อนโดยตรงจากภายนอกไม่สามารถทำลายเขื่อนได้ เนื่องจากเขื่อนที่สร้างขึ้นในยุคโซเวียตมีความแข็งแรงมาก
เขื่อนโนวา คาโคฟกา ตั้งอยู่ในพื้นที่แคว้นเคอร์ซอนตะวันตก โดยเป็นหนึ่งในหกเขื่อนสำคัญที่ตั้งตัดผ่านแม่น้ำดนีเปอร์ แม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านประเทศยูเครน ตัวเขื่อนมีความสูงถึง 30 เมตร และยาวถึง 3.2 กิโลเมตร
เขื่อนแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1956 ไล่เลี่ยกับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำนาวา คาโคฟกา เขื่อนแห่งนี้สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 18,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือพอๆ กับปริมาณน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ขณะที่บรรจุน้ำไว้เต็มความจุสูงสุด ซึ่งวันที่เขื่อนแตกขณะนั้นเขื่อนมีปริมาณน้ำเต็มความจุสูงสุด
คำอธิบายเรื่องความแข็งแรงของเขื่อนจากนักวิเคราะห์ด้านวิศวกรรมรายนี้ สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของอิฮอร์ ซีโรตา ประธานยูเครอาร์ไฮโรเอเนอร์โก (Ukrhydroenergo) บริษัทผู้ดูแลเขื่อนแห่งนี้ที่เคยระบุว่า เขื่อนแห่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้กำแพงน้ำสามารถต้านทานแรงระเบิดปรมาณูได้
ดังนั้นวิธีและความเป็นไปได้ที่จะทำลายเขื่อนโนวา คาโคฟกาคือ การระเบิดจากภายในด้วยระเบิดขนาดหลายร้อยปอนด์ หรือหากจะใช้ขีปนาวุธระเบิดเขื่อนจากภายนอกก็ต้องยิงโจมตีหลายครั้งถึงจะรุนแรงเทียบเท่ากับการวางระเบิดจากภายในเขื่อน
ขณะเดียวกัน เกรกอรี บี เบเชอร์ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ และสมาชิกสถาบันวิศวกรรมแห่งชาติสหรัฐฯ ผู้ศึกษาด้านความเสียหายของเขื่อนต่างๆ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขื่อนโนวา คาโคฟกาค่อนข้างน่าสงสัย เนื่องจากการพังมีลักษณะที่ผิดปกติ
ศาสตราจารย์รายนี้อธิบายว่า ในช่วงปลายปีที่แล้วทั้งยูเครนและรัสเซียได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่บริเวณเขื่อนแห่งนี้ระหว่างการสู้รบ จนทำให้ประตูระบายน้ำได้รับความเสียหาย แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ระบุว่าโครงสร้างของเขื่อนเสียหายไปด้วย
จนกระทั่งช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีมวลน้ำมหาศาลที่เกิดจากการละลายของหิมะในฤดูหนาวเอ่อท่วมจนล้นประตูน้ำและไหลมาท่วมยอดเขื่อน จนบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าน้ำเหล่านี้อาจเป็นต้นเหตุของเขื่อนแตก
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์รายนี้อธิบายเสริมว่า เขื่อนบางแห่งสามารถพังได้เพราะน้ำมากเกิน แต่รูปแบบการพังจะเริ่มจากส่วนที่เป็นคันดินหรือ
ด้านใดด้านหนึ่งของตัวเขื่อนแต่จากภาพถ่ายดาวเทียมและภาพถ่ายมุมสูงของเขื่อนโนวา คาโคฟกาเผยให้เห็นว่า เขื่อนนี้เสียหายบริเวณตอนกลาง จุดดังกล่าวไม่ไกลนักจากโรงไฟฟ้าบริเวณที่กองทัพรัสเซียยึดครองอยู่ และบริเวณคันดินด้านข้างไม่ได้รับผลกระทบในช่วงแรกที่เขื่อนแตก
นี่เป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้นจากนักวิชาการสายวิศวกรรมโครงสร้างเท่านั้น โดยพวกเขาย้ำว่า ข้อสันนิษฐานเหล่านี้ตั้งอยู่บนหลักฐานที่ค่อนข้างจำกัดและจำเป็นต้องสืบหารายละเอียดที่เป็นต้นเหตุทำให้เขื่อนแตกอีกครั้ง
คำพูดของนักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องการหาหลักฐานที่เป็นต้นเหตุของเขื่อนแตก เป็นไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลชาติตะวันตก เช่น สหรัฐฯ ที่เคยออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่าไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้และกำลังเก็บหลักฐานอยู่
ล่าสุดอีกประเทศหนึ่งที่ออกมาให้ความเห็นเช่นนี้คือ สหราชอาณาจักร เจมส์ เคลฟเวอร์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหราชอาณาจักร ระบุว่าสหราชอาณาจักรยังไม่สามารถให้ความเห็นกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขื่อนโนวา คาโคฟกาได้จนกว่าจะมีข้อเท็จจริงที่เพียงพอ
แต่สิ่งหนึ่งที่เขาสามารถพูดได้ตอนนี้คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงมาจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียและรัสเซียก็ไม่สามารถปิดบังข้อเท็จจริงข้อนี้ได้
ล่าสุดเมื่อคืนที่ผ่านมา วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ออกมาแสดงความเห็นเรื่องเขื่อนโนวา คาโคฟกาเป็นครั้งแรก
สำนักข่าวโพลิติโกรายงานว่า ประธานาธิบดีปูตินกล่าวโทษยูเครนว่าเป็นผู้ทำให้เขื่อนแตกและเรียกว่าเป็น “การกระทำที่ป่าเถื่อน” ขณะที่ต่อสายตรงโทรพูดคุยกับเรเจพ เทย์ยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี
ด้านประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนก็ได้เดินทางไปเยี่ยมและสำรวจความเสียหายในแคว้นเคอร์ซอนด้วยตนเอง หลังจากนั้นจึงเข้าประชุมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อหาทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน