ข่าวดังข้ามปี 2566 : โศกนาฏกรรม “เรือดำน้ำไททัน” ระเบิดขณะชม “ไททานิก”

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ย้อนรอยข่าวใหญ่แห่งปี 2566 กับโศกนาฏกรรม “เรือดำน้ำไททัน” ที่เกิดการระเบิดขณะลงไปชม “ซากเรือไททานิก” คร่าชีวิตทั้ง 5 คนบนยาน

หนึ่งในโศกนาฏกรรมที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เชื่อว่าหลายคนคงต้องนึกถึง “เรือไททานิก” เรือโดยสารขนาดมหึมาซึ่งในการเปิดตัวเมื่อ 110 ปีก่อนได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุด หรูหราที่สุด และอลังการที่สุด

แต่ในการเดินทางเที่ยวแรกจากเซาท์แทมป์ตัน สหราชอาณาจักร ไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ไททานิกกลับชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง และอับปางจมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก ในวันที่ 15 เม.ย. 1912 มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 1,514 ราย กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ติดอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

ข่าวดังข้ามปี 2566 : สุดอาลัย ดาวดับลับฟ้า ดาราเสียชีวิต ปี 2566

ข่าวดังข้ามปี 2566 : ทั่วโลกระส่ำ! สงคราม “ฮามาส-อิสราเอล”

ข่าวดังข้ามปี 2566 : คนไทยผวา! ซ้ำ วัยรุ่น 14 ปี กราดยิงกลางห้างพารากอน

ข่าวดังข้ามปี 2566 โศกนาฏกรรมเรือดำน้ำไททัน ระเบิดขณะชมไททานิก AFP/SOUTHAMPTON CITY COUNCIL
เรือไททานิก ก่อนออกเดินทางครั้งแรกและครั้งสุดท้าย

ตำนานที่ต้องเห็นด้วยตา

จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถเก็บกู้ซากเรือไททานิกขึ้นมาได้ ทำให้ในการจะศึกษาหรือสำรวจ จำเป็นจะต้องลงไปใต้ทะเลลึกกว่า 3,800 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายต่อมนุษย์อย่างยิ่ง จึงมักใช้หุ่นยนต์หรือโดรนลงไปสำรวจแทน

อย่างไรก็ดี มีนักสำรวจหรือผู้ที่สนใจคลั่งไคล้ในเรือไททานิกไม่น้อยที่อยากเห็นซากไททานิกกับตาตัวเอง เกิดเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวใต้ทะเลลึกเพื่อชมซากไททานิก

หนึ่งในผู้ที่เดินหน้าพัฒนาเรือดำน้ำเพื่อการทัวร์ชมซากเรือไททานิกคือ โอเชียนเกต เอ็กซ์พิดิชันส์ (OceanGate Expeditions) บริษัทอเมริกันซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2009 โดย สต็อกตัน รัช วิศวกรชาวอเมริกัน และกีเยร์โม ซอนไลน์ นักธุรกิจชาวอาร์เจนตินา-อเมริกัน

ซอนไลน์ ซึ่งลาออกจากบริษัทตั้งแต่ปี 2013 เคยบอกว่า “บริษัทก่อตั้งขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะสร้างกองเรือดำน้ำเชิงพาณิชย์ขนาดเล็กสำหรับ 5 คน ซึ่งองค์กรหรือกลุ่มบุคคลใดสามารถเช่าไปใช้ได้”

จุดกำเนิด “ไททัน”

เรือดำน้ำลำแรกของโอเชียนเกตคือ แอนติพะดีส (Antipodes) สามารถดำน้ำได้ลึก 300 เมตร เริ่มให้บริการนำนักท่องเที่ยวลงไปใต้ทะเลปี 2010 ต่อมามีเรือดำน้ำใหม่ชื่อ ไซคลอปส์ วัน (Cyclops 1) ดำน้ำได้ลึก 500 เมตร บรรทุกผู้โดยสารรวมพลขับได้ 5 คน ถือเป็นต้นแบบของเรือดำน้ำที่โอเชียนเกตภาคภูมิใจที่สุด นั่นคือ “ไททัน” (Titan)

ไททันเป็นเรือดำน้ำเอกชนลำแรกที่มีจุดประสงค์เพื่อลงไปใต้ทะเลที่ความลึกสูงสุด 4,000 เมตร สร้างจากวัสดุผสมไทเทเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์ เป็นเรือดำน้ำที่สามารถพานักท่องเที่ยวไปชมซากเรือไททานิกด้วยตาตัวเองได้

เรือดำน้ำไททันมีความยาว 6.7 เมตร สูง 2.5 เมตร น้ำหนัก 10.4 ตัน มีเครื่องยนต์ 4 ตัว ทำความเร็วได้สูงสุด: 3 น็อต (5.5 กม./ชม.) ใส่ออกซิเจนเพียงพอที่จะอยู่ใต้น้ำได้ประมาณ 96 ชั่วโมง หรือ 4 วัน ทั้งนี้ เมื่อผู้โดยสารเข้าไปในเรือดำน้ำไททันแล้ว จะถูกล็อกจากภายนอก ไม่สามารถเปิดออกมาเองได้

มีการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้บนไททัน ไม่ว่าจะเป็นระบบแสงและโซนาร์ล้ำสมัย ระบบบันทึกภาพวิดีโอ 4K และอุปกรณ์ถ่ายภาพ รวมถึงระบบตรวจสอบสุขภาพตัวเรือตามเวลาจริง (RTM) สามารถวิเคราะห์ความดันบนเรือและความสมบูรณ์ของโครงสร้างได้แบบเรียลไทม์

ส่วนการควบคุมเรือใช้จอยวิดีโอเกม (Video Game Controller) เช่นเดียวกับยุทโธปกรณ์ทางทหารของหลายประเทศในปัจจุบัน

หลังพัฒนาขึ้นมา ไททันก็ได้รับการทดสอบดำลึกลงไปที่ระดับ 4,000 เมตรในปี 2018-2019 และปี 2021-2022 ก็เริ่มมีการนำผู้โดยสารดำไปยังเรือไททานิก

อย่างไรก็ดี แม้จะดูเหมือนว่ามีสเปกที่ค่อนข้างเพียบพร้อมต่อการดำน้ำลึกลงไปหลายพันเมตร แต่ เดวิด ล็อกริดจ์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของโอเชียนเกต เคยอกอมาแฉว่า การทดสอบและการรับรองความปลอดภัยของบริษัทยังไม่เพียงพอ และอาจจะทำให้ผู้โดยสารได้รับอันตรายร้ายแรง ซึ่งเขาก็ถูกบริษัทฟ้องร้องไป และไม่มีใครเชื่อเขานักในเวลานั้น

ข่าวดังข้ามปี 2566 โศกนาฏกรรมเรือดำน้ำไททัน ระเบิดขณะชมไททานิก AFP/OceanGate Expeditions
เรือดำน้ำไททัน ของบริษัทโอเชียนเกต เอ็กซ์พิดิชันส์

ย้อนรอยโศกนาฏกรรม

ในปี 2023 โอเชียนเกตยังคงให้บริการนำผู้โดยสารไปชมซากเรือไททานิก โดยคิดค่าบริการเริ่มต้นที่ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.7 ล้านบาท) ต่อคน

ระยะเวลาตลอดทริปอยู่ที่ 8 วัน โดย 3 วันแรก เรือวิจัยโพลาร์พรินซ์ (Polar Prince) จะขนเรือดำน้ำไททันไปกลางมหาสมุทร ห่างจากชายฝั่ง 700 กิโลเมตร จากนั้นปล่อยไททันลงสู่มหาสมุทร ให้ไททันดำลงไปและกลับขึ้นมา ใช้เวลาราว 8 ชั่วโมง จากนั้นก็จะเดินทางกลับ

และในวันที่ศุกร์ที่ 16 มิ.ย. 2023 ทริปเที่ยวชมซากไททานิกก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยมีผู้โดยสาร 5 คน ประกอบด้วย

  • สต็อกตัน รัช ผู้บริหารของโอเชียนเกต วัย 61 ปี เป็นพลขับ
  • ฮามิช ฮาร์ดิง นักธุรกิจและนักสำรวจชาวอังกฤษวัย 58 ปี
  • ชาห์ซาดา ดาวู้ด นักธุรกิจชาวอังกฤษวัย 48 ปี
  • สุเลมาน ดาวู้ด ลูกชายของชาห์ซาดา วัย 19 ปี
  • พอล-อองรี นาร์โจเลต นักสำรวจชาวฝรั่งเศสวัย 77 ปี เจ้าของฉายา “มิสเตอร์ไททานิก”

กระทั่งช่วงเช้าวันที่ 18 มิ.ย. เรือโพลาร์พรินซ์เดินทางมาถึงจุดปล่อยตัวเรือดำน้ำไททัน และเรือไททันก็ได้ดำดิ่งลงไปใต้มหาสมุทรแอตแลนติก

แต่แล้ว 1 ชั่วโมง 45 นาทีหลังดำลงไป เรือโพลาร์พรินซ์กลับขาดการติดต่อกับเรือดำน้ำไททัน และเมื่อถึงกำหนดการต้องกลับขึ้นมา ก็ไร้ซึ่งวี่แววของเรือดำน้ำไททัน หลังจากนั้นอีก 2 ชั่วโมงครึ่ง หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ จึงได้รับแจ้งเหตุยืนยันเรือดำน้ำไททันสูญหาย

ปฏิบัติการค้นหาจึงได้เริ่มต้นขึ้น ภายใต้สมมติฐานที่ว่า เรือดำน้ำไททันเพียงขาดการติดต่อไปเท่านั้น และทุกคนบนเรือน่าจะยังมีชีวิตอยู่ โดยออกซิเจนจะเพียงพอจนถึงวันที่ 22 มิ.ย.

แม้จะมีความพยายามในการค้นหาอย่างหนัก มีการระดมสรรพกำลังทั้งเครื่องบิน เรือ ทุ่นโซนาร์ และยานควบคุมระยะไกล แต่ท้ายที่สุดแล้ว หน่วยยามฝั่งก็ออกมาแถลงยืนยันการเสียชีวิตของผู้โดยสารบนเรือดำน้ำไททันทั้ง 5 คน ยุติความหวังทั้งหมด และต่อมามีการระบุสาเหตุของการเสียชีวิตว่า เกิดจาก “การระเบิดแบบ Implosion”

ความดันใต้ทะเลลึก สาเหตุการระเบิดแบบ Implosion

หลังยืนยันการเสียชีวิตของผู้โดยสารทั้ง 5 คนบนยานไททัน หน่วยยามฝั่งที่ 1 ของสหรัฐฯ ก็ออกมาเปิดเผยว่า มีการค้นพบชิ้นส่วนกรวยส่วนท้ายของยานและเศษซากอื่น ๆ รวมทั้งหมด 5 ชิ้นหลัก ๆ กระจัดกระจายอยู่ห่างจากซากเรือไททานิกประมาณ 488 เมตร

กองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุว่า เศษซากดังกล่าวมีร่องรอยของการสูญเสียความดันภายในตัวยาน และนำไปสู่ “การระเบิดแบบ Implosion”

ต้องทำความเข้าใจกันนก่อนว่า การระเบิดปกติที่เราคุ้นชินกันไม่ว่าจะที่เห็นตามข่าวหรือภาพยนตร์ จะเป็นการระเบิดแบบ Explosion คือจากภายในสู่ภายนอก แรงระเบิดจะแผ่ออกมาจากวัตถุ

ส่วนการระเบิดแบบ Implosion จะตรงกันข้าม คือมีแรงภายนอกมากระทำต่อวัตถุจนวัตถุยุบตัว แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถทำให้ชิ้นส่วนของวัตถุที่ระเบิดกระจายได้เช่นกัน เนื่องจากชิ้นส่วนที่เล็กกว่ามักจะถูกดีดออกเมื่อชิ้นส่วนอื่น ๆ พังทลาย

ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้ยานดำน้ำไททันถูกบดขยี้ด้วยการระเบิดแบบ Implosion นั้นเกิดจาก “แรงดันมหาศาล” โดยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า ที่ระดับผิวน้ำทะเล แรงดันจะอยู่ที่ราว 14.7 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (psi) ขณะที่แรงดันน้ำที่ระดับความลึกซึ่งซากไททานิกจมอยู่นั้น มีสูงถึง 6,000 psi รุนแรงกว่าผิวน้ำ 400 เท่า!

ดังนั้น หากเรือดำน้ำไม่สามารถปกป้องหรือต้านทานแรงดันมหาศาลใต้น้ำได้ เรือดำน้ำก็จะยุบตัวในเสี้ยววินาที ถูกบดอัดด้วยแรงดันมหาศาล ความตายเกิดขึ้นแทบจะในทันทีสำหรับผู้ที่อยู่ในเรือ

ทั้งนี้ คาดว่าการระเบิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. ช่วงที่การติดต่อกับเรือโพลาร์พรินซ์ขาดหายไป หรือก็คือ เรือดำน้ำไททันระเบิดไปตั้งแต่ 1 ชั่วโมง 45 หลังลงไปในน้ำนั่นเอง

ขณะที่หลังเกิดเหตุกับเรือดำน้ำไททัน ทางบริษัทโอเชียนเกตก็ยุติกิจการชั่วคราว โดยหน้าเว็บไซต์เขียนประกาศว่า “โอเชียนเกตขอระงับการสำรวจและปฏิบัติการเชิงพาณิชย์ทั้งหมด”

นี่คือเรื่องราวโศกนาฏกรรมที่สร้างความตกตะลึงและหวาดกลัวให้กับคนทั้งโลกในปี 2023 นี้ และคาดว่าจะติดอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนไปตลอดชีวิตแบบเดียวกับที่ทุกคนจดจำไททานิก

ข่าวดังข้ามปี 2566 โศกนาฏกรรมเรือดำน้ำไททัน ระเบิดขณะชมไททานิก AFP/INDRANIL MUKHERJEE
ภาพวาด 5 ชีวิตบนเรือดำน้ำไททัน

โตโยต้า เตรียมหยุดขาย-เรียกคืนรถยนต์ 2 รุ่น ในไทยหลังพบความผิดปกติใหม่

พม.เสนอครม.เคาะ 4 แพ็กเกจของขวัญปีใหม่คนพิการ-ผู้สูงอายุ

กางปฏิทินจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างลูกจ้างประจำ บำนาญ ปี 2566

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ