ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทวีปแอฟริกามีรายงานผู้ป่วยและเคสต้องสงสัยโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 887 คน ทำให้ตัวเลขสะสมในปีนี้อยู่ที่ 15,132 คน ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023 กว่า 160%
จนถึงขณะนี้ มีรายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงใน 16 ประเทศในแอฟริกา โดยผู้ป่วย 90% อยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้ว 511 คน ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2024
แม้ว่าการระบาดในดีอาร์คองโกไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ตัวเลขผู้ป่วยปีนี้ เท่ากับตัวเลขทั้งปี 2023 แล้ว และมีการพบผู้ป่วยในจังหวัดที่ไม่เคยได้รับผลกระทบมาก่อน
นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบผู้ป่วยในบุรุนดี เคนยา รวันดา และยูกันดา ซึ่งต่างเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับดีอาร์คองโกและไม่เคยมีการระบาดของโรคฝีดาษลิง
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ส.ค. 67 นพ.จอน กาเซยา (Jean Kaseya) ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (Africa CDC) ระบุว่า เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่เพิ่มขึ้นและการแพร่กระจายข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง เขาจึงเริ่มประสานกับชาติสมาชิกสหภาพแอฟริกาเพื่อป้องกันการระบาดไม่ให้กลายเป็นการระบาดใหญ่
โดยคาดว่า ทางศูนย์ฯ จะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับทวีปภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง จะถือว่าเป็นครั้งแรกที่ซีดีซีของแอฟริกาออกประกาศดังกล่าว
การประกาศภาวะฉุกเฉิน จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ประสานงานกันได้มีประสิทธิภาพขึ้นขณะรับมือกับการระบาด และมีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างชาติสมาชิกมากขึ้น
โดยขั้นตอนการประกาศภาวะฉุกเฉินระดับทวีปนั้น ประกอบด้วย การปรึกษาด้านเทคนิคและยุทธศาสตร์ระหว่างซีดีซีแอฟริกาและชาติสมาชิกที่ได้รับผลกระทบ ก่อนจะมีการประชุมวาระพิเศษระดับผู้นำประเทศเพื่อหารือการรับมือ
การประกาศของ นพ.กาเซยา มีขึ้น 1 วันหลังจาก นพ.เทดรอส อัดฮานอม เกรเบเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาระบุว่า จะประชุมคณะกรรมการภาวะฉุกเฉินเพื่อพิจารณาว่าจะประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษลิงในทวีปแอฟริกาเป็นภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศหรือไม่
สำหรับโรคฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะในทวีปแอฟริกา โดยเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่เชื้อไปยังสัตว์อื่น และสามารถแพร่จากสัตว์ไปสู่คนได้ ซึ่งการรายงานที่พบโรคนี้ครั้งแรกเกิดจากลิงในห้องทดลอง จึงเรียกว่าฝีดาษลิง แต่ลิงไม่ใช่แหล่งกำเนิดของโรคนี้อย่างที่เข้าใจกัน
เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ โดยจะมีอาการคล้ายกันแต่รุนแรงน้อยกว่า
อาการจะเริ่มจากมีไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ตามมาด้วยมีผื่นขึ้นซึ่งจะค่อยๆกลายเป็นตุ่มหนอง จนถึงในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคได้เอง
เชื้อไวรัสฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์แอฟริกากลางหรือเคลดวัน (Clade I) และสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก หรือเคลดทู (Clade II) ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์อาจทำให้เสียชีวิต แต่จากสถิติ สายพันธุ์เคลดวันจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบเชื้อไวรัสฝีดาษลิงที่แยกย่อยมาจากสายพันธุ์เคลดวัน เรียกว่า “เคลดวันบี” (clade Ib) ทางตะวันออกของดีอาร์คองโก รวมถึงในเคนยา รวันดา และยูกันดา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เชื้อที่กลายพันธุ์นี้มีบทบาทในการระบาดระลอกปัจจุบัน
ที่ผ่านมา เชื้อฝีดาษลิงสายพันธุ์แคลดวันจะแพร่กระจายจากคนที่ทานเนื้อสัตว์ป่าที่ติดเชื้อ ขณะที่เชื้อสายพันธุ์เคลดวันบีกำลังระบาดจากคนสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการสัมผัสร่างกายและพบเจอกัน หรือผ่านเครื่องนอนหรือผ้าเช็ดตัวที่ปนเปื้อน
โดย พญ.โรซามุนด์ ลูอิส (Rosamund Lewis) หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านโรคฝีดาษลิงขององค์การอนามัยโลกระบุว่า “เรายังไม่รู้ว่ามันติดต่อได้ง่ายกว่าหรือไม่ แต่มันกำลังแพร่กระจายผ่านช่องทางที่มีประสิทธิภาพ”
นอกจากสายพันธุ์เคลดวันบีแล้ว เชื้อไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์อื่น ๆ ก็ยังแพร่กระจายอยู่ โดยดีอาร์คองโกและสาธารณรัฐแอฟริกากลางมีการตรวจพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์เคลดวันเอ (clade Ia) ขณะที่มีการรายงานพบสายพันธุ์เคลดทูในแคเมอรูน ไอโวรีโคสต์ ไลบีเรีย ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้ด้วย
นพ.กาเซยา ผู้อำนวยการซีดีซีแอฟริกา ระบุว่า การระบาดเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่มั่นคงที่สูงในภูมิภาคนี้ และวิกฤตด้านสภาพอากาศทำให้มนุษย์เข้าไปใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งก็อาจเป็นปัจจัยเช่นกัน
ฝีดาษลิง เป็นโรคที่มีวัคซีนป้องกัน แต่แอฟริกายังมีปัญหาในการเข้าถึง โดยซีดีซีของแอฟริการะบุว่า แอฟริกาต้องการวัคซีนจำนวน 10 ล้านโดส แต่มีวัคซีนอยู่เพียง 2 แสนโดส ซึ่งการขาดการวินิจฉัยและการรักษาเป็นอุปสรรคต่อการรับมือการระบาด
แผนการสำหรับโปรแกรมการฉีดวัคซีนยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่คาดว่าจะมีการติดตามและฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยและกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงมากกว่า
ด้านองค์การอนามัยโลกได้อนุญาตให้ใช้วัคซีน 2 ตัว เป็นการฉุกเฉิน ซึ่งเกิดทางให้องค์กร เช่น องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavi) และยูนิเซฟ (Unicef) สามารถหาวัคซีนมาเพื่อแจกจ่ายได้
ทั้งนี้ การระบาดใหญ่ครั้งล่าสุดของโรคฝีดาษลิงเกิดขึ้นเมื่อปี 2022 โดยมีการระบาดทั่วโลกจากยุโรป โดนเฉพาะในชุมชนชายรักชาย
องค์การอนามัยโลกได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในเดือนกรกฎาคมปีนั้น โดยมีการติดตามการสัมผัส และดำเนินโครงการฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวาง ก่อนที่ภาวะฉุกเฉินถูกยกเลิกในเดือนพฤษภาคม ปี 2023 โดยจำนวนป่วยทั้งหมดในการระบาดใหญ่ครั้งนั้นอยู่ที่ประมาณ 90,000 คน