ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานพบสิงโตว่ายน้ำไกลทำลายสถิติเพื่อไปผสมพันธุ์ ล่าสุดนักวิทย์พบสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิดที่เดินทางไกลยิ่งกว่านั้นด้วยจุดประสงค์เดียวกัน
โดยจากการศึกษาล่าสุด นักวิทยาศาสตร์พบวาฬหลังค่อม (Megaptera novaeangliae) เพศผู้ตัวหนึ่งว่ายน้ำ “ข้ามมหาสมุทร 3 แห่ง” เพื่อหาคู่ผสมพันธุ์
การเดินทางของวาฬหลังค่อมเพศผู้ตัวนี้เริ่มต้นนอกชายฝั่งโคลอมเบียในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก และสิ้นสุดนอกที่ชายฝั่งแซนซิบาร์ในมหาสมุทรอินเดีย รวมแล้วมันเดินทางไกลถึง 13,046 กิโลเมตร!
เท็ด ชีสแมน หนึ่งในทีมวิจัย ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นครอสในออสเตรเลียเดีย ผู้อำนวยการ Happywhale ฐานข้อมูลภาพที่นักวิจัยรวบรวมหลักฐานสำหรับการศึกษาครั้งนี้ ระบุว่า วาฬตัวดังกล่าวน่าจะว่ายน้ำมาจากโคลอมเบียไปทางทิศตะวันออก โดยว่ายตามกระแสน้ำที่พัดแรงในมหาสมุทรแอนตาร์กติก และอาจแวะเยี่ยมประชากรวาฬหลังค่อมตัวอื่นในมหาสมุทรแอตแลนติก
“ชาล็อต-ณวัฒน์” แถลง เผยกลโกงมิจฉาชีพใช้เอไอหลอกสูญเงิน 4 ล้าน
ออสเตรเลียสั่งสอบ ตัวอย่างไวรัสอันตราย 300 ตัวอย่างหายไปจากห้องแล็บ
คนไทยค้นหาอะไรบน Google มากที่สุดในปี 2024 ?
“การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก โดยเป็นการค้นพบที่ในตอนแรกเรานึกว่ามีข้อผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้น” ชีสแมนกล่าว
นอกเหนือจากเรื่องของระยะทางที่น่าตื่นเต้นแล้ว หนึ่งในการค้นพบที่สำคัญที่สุดจากการศึกษาครั้งนี้ก็คือ วาฬหลังค่อมตัวนี้ได้แวะเวียนไปเยี่ยมประชากรปลาวาฬหลังค่อมหลายกลุ่มระหว่างทาง
ปกติแล้ว วาฬหลังค่อมจะมีรูปแบบการเดินทางหรืออพยพที่สม่ำเสมอมาก โดยจะอพยพระหว่างแหล่งหากินในน้ำเย็นใกล้ขั้วโลกและพื้นที่เพาะพันธุ์ที่ใกล้กับเขตร้อนมากขึ้น เป็นที่ทราบกันว่า วาฬเหล่านี้ว่ายน้ำในทิศทางเหนือ-ใต้มากกว่า 8,000 กม. ทุกปี แต่พวกมันมักจะไม่เดินทางไกลไปในทิศทางตะวันออก-ตะวันตก และโดยทั่วไปจะไม่ไปปะปนกับประชากรกลุ่มอื่น ๆ
การเดินทางข้ามมหาสมุทรในการศึกษาครั้งใหม่นี้จึงแสดงให้เห็นว่า การอพยพของวาฬหลังค่อมมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่นักวิจัยเคยคาดไว้ แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะเคยบันทึกการอพยพที่คล้ายคลึงกันนี้มาก่อนแล้วเป็นครั้งคราว เช่น กรณีของวาฬหลังค่อมตัวเมียที่ว่ายน้ำ 9,800 กม. จากบราซิลไปยังมาดากัสการ์ระหว่างปี 1999 ถึง 2001
แต่วาฬหลังค่อมตัวผู้ในงานวิจัยใหม่นี้ได้สร้างสถิติระยะทางใหม่ในการเดินทางจากพื้นที่เพาะพันธุ์หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง
เอคาเทรินา คาลาชนิโควา นักชีววิทยา หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “เราสามารถบันทึกพฤติกรรมใหม่ ๆ ซึ่งให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับระบบนิเวศของวาฬหลังค่อมได้”
การค้นพบนี้มาจากภาพถ่ายที่นักวิจัยถ่ายไว้ระหว่างปี 2013 ถึง 2022 และรวมข้อมูลเก็บไว้ใน Happywhale ในเวลาต่อมา ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นวาฬตัวผู้ที่โตเต็มวัยตัวเดียวกันใน 2 สถานที่นอกชายฝั่งโคลอมเบีย และอีก 5 ปีต่อมาไปปรากฏตัวในช่องแคบแซนซิบาร์ โดยแต่ละครั้งจะมาพร้อมกับฝูงวาฬประเภทที่เรียกว่า “Competitive Group”
Competitive Group คือกลุ่มวาฬที่วาฬตัวเมียจะมี “ผู้คุ้มกัน” เฝ้าอย่างใกล้ชิด และวาฬตัวผู้ตัวอื่น ๆ จะแข่งขันกันเพื่อเข้าถึงตัวเธอ
ทีมวิจัยเชื่อว่า แรงจูงใจในการเดินทางไกลทุบสถิติของวาฬหลังค่มเพศผู้ตัวนี้น่าจะเป็นเรื่องการหาคู่ผสมพันธุ์ โดยวาฬตัวผู้มีแนวโน้มที่จะสืบพันธุ์มากขึ้นโดยไปปะปนกับวาฬตัวอื่น ๆ ที่กำลังผสมพันธุ์
เหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้วาฬออกเดินทางผจญภัยไกลขนาดนี้อาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการกระจายของอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเติบโตของประชากรวาฬหลังค่อม ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันระหว่างวาฬตัวผู้ในช่วงฤดูหาอาหารและฤดูผสมพันธุ์
อ่านงานวิจัยฉบับบเต็ม ที่นี่
เรียบเรียงจาก Live Science