ที่ประเทศจีนเกิดคดีผัว ๆ เมีย ๆ เมื่อเมียน้อยรายหนึ่งจ่าย “ค่าจ้างหย่า” ให้เมียหลวงเป็นเงิน 1.2 ล้านหยวน (ราว 5.6 ล้านบาท) โดยที่ฝ่ายเมียหลวงรับเงินไป แต่ไม่ยอมหย่า จึงเกิดการฟ้องร้องขอเงินคืน
เรื่องนี้ต้องเท้าความก่อนว่า ในเดือน ธ.ค. 2013 ชายแซ่หานซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองฉือชือ มณฑลฝูเจี้ยน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ได้แต่งงานจดทะเบียนสมรสกับภรรยา แซ่หยาง และมีลูกสาวด้วยกัน 2 คน
ต่อมาหานเริ่มมีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานของเขา ซึ่งระบุว่าแซ่ฉือ และยังได้ร่วมหุ้นกันทางธุรกิจและมีลูกชายด้วยกันในเดือน พ.ย. 2022
ในความพยายามที่จะแทนที่หยาง ฉือจึงได้เผชิญหน้ากับเธอและเสนอข้อตกลง โดยเสนอที่จะจ่ายเงิน 2 ล้านหยวน (ราว 9.3 ล้านบาท) หากหยางตกลงที่จะหย่ากับหาน โดยเธอได้โอนเงิน 1.2 ล้านหยวนให้กับหยางเมื่อสิ้นปี 2022
อย่างไรก็ตาม มากกว่า 1 ปีผ่านไป แต่หยางยังคงไม่ยินยอมในการหย่าร้าง ฉือจึงพยายามติดต่อขอเงินคืน แต่หยางปฏิเสธ ด้วยความไม่พอใจ ฉือจึงยื่นฟ้องเพื่อเรียกเอาเงินจำนวนดังกล่าวคืน
ในการฟ้องร้องทางคดีความ ฉืออ้างว่าเธอและหยางมี “ข้อตกลงปากเปล่า” ว่าการจ่ายเงินเกิดขึ้นเพื่อให้หยางหย่ากับหาน และขอให้ศาลสั่งให้หยางคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระในข้อหาละเมิดสัญญา
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ศาลประชาชนฉือชือมีมติไม่เห็นด้วยกับคำฟ้องของฉือ โดยระบุว่า การชำระเงินดังกล่าวละเมิดมาตรฐานศีลธรรมของสังคมและความสงบเรียบร้อยของประชาชน เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังพบว่าหานและหยางได้ลงนามในข้อตกลงการหย่าร้างแล้วและอยู่ใน “ช่วงพัก” ซึ่งหมายความว่าการชำระเงินไม่เป็นไปตามเงื่อนไขทางกฎหมายสำหรับการขอคืนเงิน
ช่วงเวลา “พัก” นี้ กำหนดโดยรัฐบาลจีนในปี 2021 กำหนดให้คู่รักต้องรอ 30 วันหลังจากยื่นคำร้องขอหย่าร้างก่อนจะแยกทางกันได้
ตรวจหวยงวดนี้ - ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ลอตเตอรี่ 16/12/67
เงินชาวนาไร่ละ 1000 บาท เช็กวันโอนเงินเข้าบัญชี กลุ่มแรก
11 อาหารช่วยคลายเครียด กระตุ้นสารความสุข เสริมวิตามินลดความเมื่อยล้า
นอกจากนี้ หลักฐานยังเปิดเผยอีกว่า ระหว่างที่ยังมีสถานะแต่งงานอยู่ หานได้ใช้เงินไปกว่า 6 ล้านหยวน (28 ล้านบาท) ให้กับฉือโดยที่ภรรยาของเขาไม่รู้
เยว่ เจิ้งเฉา ทนายความจากสำนักงานกฎหมายเหอหนานยู่ชุน อธิบายว่า ในกรณีดังกล่าว ศาลไม่น่าจะเห็นด้วยกับบุคคลที่สาม แม้ว่าทั้งคู่จะยังไม่ได้หย่าร้างกันก็ตาม
“ทรัพย์สินสำคัญใด ๆ ที่ชายที่แต่งงานแล้วได้มาในระหว่างที่นอกใจกัน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากภรรยา ยังถือเป็นทรัพย์สินร่วมกันของทั้งคู่ ภรรยามีสิทธิทางกฎหมายที่จะเรียกร้องคืนส่วนแบ่งของตนจากบุคคลที่สาม” เยว่ชี้แจง
ยังไม่ชัดเจนว่า หานจะเจอผลทางกฎหมายหรือไม่หากถูกตัดสินมีความผิดฐานแต่งงานซ้อนโดยอยู่กินกับคนอื่นและมีลูกกับคนอื่นในขณะที่ยังแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
คดีนี้จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงกันอย่างคึกคักบนโซเชียลมีเดียของจีน โดยหลายคนบอกว่า “สมควรแล้ว”
ชาวเน็ตรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า “ผลลัพธ์นี้น่าพอใจจริง ๆ การเอาเงินไปและปฏิเสธที่จะหย่าร้าง นี่เป็นวิธีที่สมบูรณ์แบบที่จะทำให้เมียน้อยสูญเสียทั้งสามีและเงิน!”
ชาวเน็ตอีกรายหนึ่งกล่าวติดตลกว่า “ผู้ชายแบบไหนกันที่คุ้มค่ากับเงิน 1.2 ล้านหยวน?”
เรียบเรียงจาก SCMP