สหประชาชาติเผย ขณะนี้มีเพียง 10 ประเทศจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก อาทิ ยูเออี เอกวาดอร์ นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และอุรุกวัย ที่ยื่นแผนจัดการปัญหาโลกร้อน ภายใต้ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทันตามกำหนดเส้นตายทื่กำหนดไว้ไม่เกินเมื่อวันที่ 10 ก.พ.
ส่วน จีน อินเดีย สหภาพยุโรป เป็นประเทศใหญ่ที่ส่งแผนดังกล่าวไม่ทันตามกำหนดเวลา เช่นเดียวกับ สหรัฐฯ อังกฤษ และบราซิล โดยกรณีของสหรัฐฯ นั้นเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ก่อนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะสั่งให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงปารีส
ภายใต้ความตกลงปารีส แต่ละประเทศจะต้องจัดทำเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2035 และมีรายละเอียดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวที่ชัดเจนให้กับสหประชาชาติ แต่ไม่ได้ข้อบังคับทางกฏหมายหรือบทลงโทษใด ๆ ต่อประเทศที่ยื่นแผนดังกล่าวล่าช้ากว่ากำหนด
เอโบนี ฮอลแลนด์ นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสภาพอากาศ ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ระบุว่า การถอนตัวจากความตกลงปารีสของสหรัฐฯ เป็น “ความพ่ายแพ้” ในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างชัดเจน พร้อมทั้งเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์กำลังเกิดขึ้น ซึ่งสร้างความท้าทายในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความสำคัญอย่างภาวะโลกร้อน
สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ภายใต้สนธิสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่มีการลงนามในปี 2015 มีเป้าหมายที่จะจำกัดให้อุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส
โดยเมื่อสัปดาห์ที่แเล้วศูนย์บริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป ระบุในจดหมายข่าวรายเดือนว่า อากาศร้อนผิดปกติยังคงดำเนินต่อเนื่องเข้าสู่เดือนมกราคม 2025 โดยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในเดือน ม.ค. ปี 2025 สูงกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.75 องศาเซลเซียส
ขณะที่ในช่วง 19 เดือนที่ผ่านมานั้น มีถึง 18 เดือนที่อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่าน พื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยคาร์บอนจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมัน ที่เพิ่มสูงขึ้นในระดับสูงสุดในปี 2023 และ 2024