ทรยศประชาชน? ญี่ปุ่นวางแผนเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์เต็มพิกัด

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ญี่ปุ่นล้มเลิกความพยายามลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ เตรียมผลักดันเปิดใช้เตาปฏิกรณ์เต็มพิกัดอีกครั้ง หลังส่วนมากหยุดไปตั้งแต่เกิดภัยพิบัติฟุกุชิมะ

กว่าทศวรรษหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ญี่ปุ่นดูเหมือนจะหันกลับมาเดินหน้าใช้พลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง เนื่องจากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษและเสริมความมั่นคงด้านพลังงานได้

ในร่างแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานซึ่งคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติในเดือนนี้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมได้ส่งสัญญาณว่า กำลังล้มเลิกความพยายามในการลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น

คอนเทนต์แนะนำ
“หม่องชิตตู” โต้ไทย! ลั่นไม่ได้ค้ามนุษย์-คนต่างชาติเข้าเมียนมาเอง
ปูตินยิ้มหวาน? ทรัมป์พูดว่า “ยูเครนอาจจะเป็นรัสเซียในสักวันหนึ่ง”
เอฟบีไอพบเอกสารใหม่หลายพันฉบับเกี่ยวคดีลอบสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี

ญี่ปุ่นวางแผนเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์เต็มพิกัด AFP/STR/JIJI PRESS
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ (แฟ้มภาพ)

เอกสารดังกล่าวได้ละทิ้งแผนการ “ลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์” ซึ่งเคยปรากฏในแผน 3 แผนก่อนหน้านี้ และเรียกร้องให้ “เพิ่มพลังงานนิวเคลียร์ให้สูงสุด” ซึ่งจะคิดเป็นประมาณ 20% ของการผลิตพลังงานทั้งหมดในปี 2040 โดยอิงตามสมมติฐานที่ว่า เครื่องปฏิกรณ์ 30 เครื่องจะทำงานได้เต็มกำลังภายในเวลานั้น

แผนดังกล่าวคาดการณ์ว่า จะมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนระหว่าง 40-50% เพิ่มขึ้นจาก 1 ใน 3 ของปี 2023 และจะลดการใช้พลังงานถ่านหินจาก 70% ในปัจจุบันเหลือ 30-40%

การผลักดันให้เริ่มเดินเครื่องปฏิกรณ์เต็มพิกัดทำให้นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศออกมาประณามว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลืองและอันตราย

ไอลีน สมิธ กรรมการบริหารของกลุ่ม Green Action กล่าวว่า “รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ควรลงทุนเงินกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งมีอายุมากแล้ว และเทคโนโลยีที่ใช้ก็เก่ากว่าด้วย ต้นทุนในการปรับปรุงจึงสูง ดังนั้น แม้แต่การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมก็ไม่คุ้มทุนในเชิงพาณิชย์อีกต่อไป”

จากการศึกษาล่าสุดของหนังสือพิมพ์โยมิอุริ พบว่า เครื่องปฏิกรณ์ที่มีอายุมาก ซึ่งมีอายุอย่างน้อย 40 ปี คิดเป็น 40% ของเครื่องปฏิกรณ์ที่ใช้งานอยู่ทั่วโลก แต่ในญี่ปุ่นมีเพียง 20% เท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ในสหรัฐฯ เตาปฏิกรณ์ 64 เครื่องจากทั้งหมด 94 เครื่อง หรือคิดเป็น 68% ของทั้งหมด จะทำงานมาอย่างน้อย 40 ปีภายในสิ้นปีนี้

แต่ต่างจากประเทศอื่น ๆ จำนวนมากที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ ญี่ปุ่นมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวรุนแรงและคลื่นสึนามิเช่นเดียวกับที่g8pทำลายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ

สมิธบอกว่า “แผ่นดินไหวเป็นอันตรายมากที่สุด และอาจเกิดกับเตาปฏิกรณ์เก่าหรือใหม่ก็ได้ ยิ่งมีเตาปฏิกรณ์ทำงานมากเท่าไร ความเสี่ยงก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ง่าย ๆ แค่นั้นเอง การปรับปรุงหมายถึงการใช้เงินจำนวนมหาศาลกับเตาปฏิกรณ์เก่าทั้งหมด ในขณะที่รัฐบาลสามารถนำเงินไปลงทุนในพลังงานหมุนเวียนแทนได้”

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระบุว่า จำเป็นต้องเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์อีกครั้ง หากญี่ปุ่นต้องการตอบสนองต่อความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากศูนย์ประมวลผลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์และโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในกลางศตวรรษนี้

นักเคลื่อนแย้งว่า รัฐบาลมีแผนที่จะคงการใช้เครื่องปฏิกรณ์ที่เสื่อมสภาพต่อไป ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นเสี่ยงต่ออุบัติเหตุครั้งใหญ่ได้อีกครั้ง

ทาคาดะ ฮิซาโยะ จากกรีนพีซญี่ปุ่น กล่าวว่า “การเสื่อมสภาพของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นประเด็นที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง ซึ่งอาจท้าทายความปลอดภัยและความสมบูรณ์ของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้”

เธอเสริมว่า “เมื่อเครื่องปฏิกรณ์ทำงาน เครื่องปฏิกรณ์จะต้องเผชิญกับแรงกดดันและอุณหภูมิที่สูงมาก ซึ่งล้วนแต่ก่อให้เกิดความเครียดอย่างมาก แนวโน้มที่ญี่ปุ่นจะใช้เครื่องปฏิกรณ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 60 ปีหรือมากกว่านั้น เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่ากำลังมีการทดลองครั้งใหญ่กับประเทศนี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดหายนะได้”

ทาคาดะกล่าวเสริมว่า รัฐบาลควรดำเนินการมากขึ้นเพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน “วิกฤตสภาพอากาศเรียกร้องให้สังคมเร่งลดการปล่อยคาร์บอนให้หมดไป โดยเน้นที่ภาคพลังงานและการผลิตไฟฟ้า เทคโนโลยีเดียวที่มีอยู่ในปัจจุบันที่สามารถทำเช่นนั้นได้ในระยะเวลาอันสั้นคือประสิทธิภาพด้านพลังงานที่ดีขึ้นและการขยายพลังงานหมุนเวียน”

ก่อนเกิดภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ญี่ปุ่นมีเครื่องปฏิกรณ์ที่ทำงานอยู่ 54 เครื่อง ซึ่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 30% ของประเทศ แต่หลังเกิดเหตุ มีเครื่องปฏิกรณ์เพียง 14 เครื่องเท่านั้นที่เริ่มทำงานใหม่ ในขณะที่เครื่องอื่น ๆ กำลังถูกปลดประจำการหรือรออนุญาตให้กลับมาทำงานอีกครั้ง

การปิดเครื่องปฏิกรณ์หลังเหตุการณ์ฟุกุชิมะทำให้ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลนำเข้ามากขึ้น ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน และเป็นผู้นำเข้าถ่านหินรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา บริษัทสาธารณูปโภคได้เริ่มเดินเครื่องปฏิกรณ์ 14 เครื่องอีกครั้ง รวมถึงเครื่องหนึ่งในภูมิภาคที่ถูกทำลายจากคลื่นสึนามิในปี 2011 แม้จะมีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ก็ตาม ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ปีนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถดำเนินงานต่อไปได้เกินกว่าขีดจำกัดเดิมที่ 60 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าต้องปรับปรุงระบบความปลอดภัย

เมื่อปีที่แล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทาคาฮามะซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อันดับ 1 ในภาคกลางของญี่ปุ่นได้กลายเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินงานเกิน 50 ปี โดยมีเตาปฏิกรณ์ 4 เครื่องที่ทำงานมานานกว่า 40 ปีแล้ว และจะมีอีก 3 เครื่องที่จะมีอายุใช้งานครบ 40 ปีในปีนี้

ด้านหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุนของญี่ปุ่น ระบุว่า นายกรัฐมนตรี อิชิบะ ชิเงรุ เคยสัญญาไว้ตอนหาเสียงว่า จะพยายามทำให้การผลิตพลังงานนิวเคลียร์ “ใกล้เคียงศูนย์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดทำให้อาซาฮีชิมบุนวิจารณ์อย่างรุนแรงว่า “หากการเปลี่ยนท่าทีอย่างกะทันหันและไม่รับผิดชอบของรัฐบาลในร่างแผนดังกล่าวไม่ใช่การกระทำที่ทรยศต่อประชาชน แล้วอะไรล่ะที่ถือเป็นการทรยศต่อประชาชน”

 

เรียบเรียงจาก The Guardian

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ