สหรัฐฯ ระงับแชร์ข่าวกรองให้ยูเครน กดดันเจรจาหยุดยิงรัสเซีย

โดย PPTV Online

เผยแพร่

ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ประกาศระงับการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองให้ยูเครน หลังเพิ่งสั่งหยุดให้ความช่วยเหลือทางทหารไป

รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเพิ่มแรงกดดันให้ยูเครนข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย ตามความต้องการของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โดยเมื่อช่วงเช้าวันที่ 5 มี.ค. ไมค์ วอลต์ซ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ได้ประกาศระงับการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองกับยูเครนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แถลงการณ์จากวอลต์ซและจอห์น แรตคลิฟฟ์ ผู้อำนวยการสำนักข่างกรองกลาง (CIA) ยืนยันว่า การแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองจากสหรัฐฯ ให้กับยูเครนได้ถูกระงับ แต่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระดับการจำกัดการส่งต่อข้อมูลให้ยูเครน

คอนเทนต์แนะนำ
ชื่นมื่น! "มิน อ่อง หล่าย" มอบช้างให้ "ปูติน" แลกเครื่องบินรบ
“ทรัมป์” ประกาศต่อหน้าสภาคองเกรส “นี่เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น”
ยูเครนเสนอแผนหยุดยิงขั้นต้น จี้รัสเซียหยุดโจมตีทางอากาศ

สหรัฐฯ ระงับแชร์ข่าวกรองให้ยูเครน กดดันเจรจาหยุดยิงรัสเซีย Reuters/U.S. NETWORK POOL
ไมค์ วอลต์ซ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม วอลต์ซเปิดเผยกับสื่อมวลชนในสหรัฐฯ ว่า การระงับการแบ่งปันข่าวกรองครั้งนี้อาจกินระยะเวลาไม่นาน หากยูเครนสามารถแสดงให้ถึงความจริงจังต่อการเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเจรจายุติสงคราม จนเป็นที่พอใจของประธานาธิบดีทรัมป์

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี โต้เถียงอย่างหนักกับประธานาธิบดีทรัมป์และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระหว่างการเจรจาข้อตกลงแร่ธาตุหายากที่ทำเนียบขาวเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งในเวลาต่อมา ประธานาธิบดีทรัมป์ก็สั่งระงับความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครน เพื่อกดดันให้เซเลนสกียอมรับกระบวนการสันติภาพ

หลังจากนั้น ประธานาธิบดีเซเลนสกีที่ต้องการให้สหรัฐฯ รับประกันความมั่นคงให้แก่ยูเครน ได้ผ่อนคลายท่าทีอันแข็งกร้าวเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ ขณะที่วอลต์ซกล่าวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์อาจยกเลิกการระงับความช่วยเหลือ หากการเจรจาสันติภาพมีความคืบหน้า

สำหรับข้อมูลข่าวกรองจากสหรัฐฯ นับว่ามีบทบาทสำคัญมากต่อการอยู่รอดของยูเครน โดยในช่วงแรกของการทำสงคราม ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้กองทัพยูเครนสามารถผลักดันกำลังทหารรัสเซียให้ถอยร่นออกไป อีกทั้งยังส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อแจ้งเตือนภัยการโจมตีทางอากาศ  ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงกลางคืน และยังช่วยทหารยูเครนทราบพิกัดของทหารรัสเซีย เพื่อกำหนดเป้าหมายการใช้ขีปนาวุธพิสัยไกล

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้า กรุงปารีสจะเป็นเจ้าภาพการประชุมนายทหารระดับประธานคณะเสนาธิการของประเทศต่างๆในยุโรปเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะส่งกำลังพลเข้าไปประจำการในยูเครน

ประธานาธิบดีมาครงย้ำว่า ยูเครนจำเป็นต้องได้รับหลักประกันด้านความมั่นคง ด้วยการการมีกำลังทหารจากชาติยุโรปเข้าไปทำหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการหยุดยิง หากมีข้อตกลงสันติภาพเกิดขึ้น แต่จะไม่เข้าร่วมการทำสงครามกับรัสเซีย

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีมาครงยังระบุว่า พร้อมรับฟังข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ฝรั่งเศส ขยายขอบเขตการคุ้มครองความปลอดภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ให้คลอบคลุมชาติพันธมิตรอื่น ๆ ในยุโรป  ด้วย

โดยปัจจุบัน ฝรั่งเศส และ อังกฤษ เป็นเพียง 2 ชาติพันธมิตรสหรัฐฯ ในยุโรปที่มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง และแม้ว่าตามปกติแล้ว ชาติอื่น ๆ จะได้รับการคุ้มครองภัยอาวุธนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ ภายใต้เงื่อนไขขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหรือ หรือนาโต แต่ด้วยกังวลต่อท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้ ฟรีดีช แมร์ซ ว่าที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เรียกร้องอังกฤษและฝรั่งเศส ขยายเครือข่ายการป้องกันการโจมตีจากอาวุธนิวเคลียร์ให้ทั่วทั้งยุโรป

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ