ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า มีแผนการเพิกถอนสถานะทางกฎหมายชั่วคราวของชาวยูเครนกว่า 240,000 คนที่หลบหนีสงครามในประเทศเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ และมีโอกาสที่คนกลุ่มนี้จะถูกเนรเทศ
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า จะตัดสินใจเรื่องนี้ให้ได้โดยเร็ว แต่แหล่งข่าวภายในรัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่า ผลการพิจารณาจะมีความชัดเจนเดือน เม.ย. นี้ ซึ่งจะเป็นการยกเลิกนโยบายของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ต้อนรับชาวยูเครนให้เข้ามาลี้ภัยในสหรัฐฯ
แผนการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีจะโต้เถียงกับประธานาธิบดีทรัมป์ต่อหน้าสื่อที่ทำเนียบขาวเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลทรัมป์ ที่จะถอดสถานะทางกฎหมายของผู้อพยพมากกว่า 1.8 ล้านคน ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่สหรัฐฯ ภายใต้โครงการผ่อนผันชั่วคราวเพื่อมนุษยธรรม ซึ่งเริ่มใช้ในสมัยรัฐบาลไบเดน
โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารตั้งแต่เมื่อ 20 ม.ค. เรียกร้องให้กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิ ยกเลิกโครงการผ่อนผันแก่ผู้อพยพในทุกประเภท โดยรัฐบาลทรัมป์วางแผนจะยกเลิกการผ่อนผันแก่ผู้อพยพชาวคิวบา, เฮติ, นิการากัว และเวเนซุเอลา ราว 530,000 คนอย่างเร็วที่สุดภายในเดือน มี.ค. นี้
และตามที่ระบุในอีเมลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร ซึ่งรอยเตอร์สได้เห็นมา ผู้อพยพที่ถูกเพิกถอนสถานะผ่อนผัน อาจต้องเผชิญกับกระบวนการเนรเทศแบบเร่งด่วน
เนื้อหาในอีเมลระบุว่า ผู้อพยพที่ข้ามพรมแดนเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย สามารถถูกนำเข้าสู่กระบวนการเนรเทศแบบด่วนได้ภายใน 2 ปีหลังเข้าประเทศ แต่ผู้ที่เข้ามาผ่านช่องทางกฎหมายโดยไม่ได้รับสถานะ “ยอมรับ” เข้าสู่สหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เช่นโครงการผ่อนผันของอดีตประธานาธิบดีไบเดน ไม่มีการจำกัดเวลาในการนำพวกเขาเข้าสู่กระบวนการเนรเทศ
โครงการดังกล่าวยังครอบคลุมชาวอัฟกันมากกว่า 70,000 คนที่ลี้ภัยเข้าสู่สหรัฐฯ ในตอนที่ตาลีบันยึดประเทศอีกครั้งในปี 2564 นอกจากนั้นยังมีผู้อพยพอีก 1 ล้านคนได้รับกำหนดวันเข้าสู่สหรัฐฯ ไว้แล้วตามโครงการ CBP One และอีกหลายพันคนที่เข้าถึงโครงการผ่อนผันขนาดเล็กกว่าอย่างเช่น โครงการรวมญาติ เป็นต้น