กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ อ้างถึงงบประมาณที่จำกัดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องยุติการส่งข้อมูลจากโครงการติดตามคุณภาพอากาศ โดยข้อมูลย้อนหลังจะยังอยู่ในเว็บไซต์ของ องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (EPA) แต่ข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้หยุดให้บริการแล้วตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา และจะหยุดให้บริการจนกว่าจะมีการเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้
ซึ่งตั้งแต่ปี 2008 สหรัฐฯ ติดตามคุณภาพอากาศผ่านสถานทูตสหรัฐฯ ทั่วโลก เพื่อให้ข้อมูลแก่ชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ และยังเป็นการเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำ
เมื่อปี 2014 จีนได้แบนแอปพลิเคชันที่เผยแพร่ข้อมูลจากสถานทูตสหรัฐฯ ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดระดับนานาชาติ ซึ่งบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น เข้าร่วมประชุมด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกล่าวว่า ความโปร่งใสส่งผลอย่างสังเกตได้ จากการที่จีนออกมาแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ หลังจากรู้สึกอับอาย ที่สถานทูตสหรัฐฯ เผยแพร่ข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าสภาพอากาศจริงแย่กว่าที่ทางการจีนประเมินอย่างมาก
ข้อมูลคุณภาพอากาศที่มาจากสถานทูตสหรัฐฯ นั้น มักถูกใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงใน กรุงนิวเดลี ของอินเดีย ซึ่งมีปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรง
ทั้งนี้ตั้งแต่ที่ทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคม เขาได้ตัดงบประมาณเกี่ยวกับความร่วมมือทางนานาชาติและสิ่งแวดล้อม หลังได้ให้สัญญาว่าจะลดรายจ่ายของรัฐบาลและให้ความสำคัญกับการลดภาษี
รัฐบาลทรัมป์ได้ปิดตัวหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) ซึ่งเป็นหน่วยงานช่วยเหลือที่มีงบประมาณกว่า 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9 แสนล้านบาท ทรัมป์ยังลดจำนวนพนักงานด้านสิ่งแวดล้อม และยกเลิกโครงการที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศจำนวนมากของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดี คนก่อนหน้า
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มลพิษทางอากาศ ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี