องค์การนาซาและบริษัทสเปซเอ็กซ์ของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการส่งจรวดฟัลคอน 9 พร้อมด้วยนักบินอวกาศ 4 คนในภารกิจครูว์-10 ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เพื่อรับนักบินอวกาศ 2 คนที่ติดอยู่ด้านบนมานาน 9 เดือนกลับลงสู่พื้นโลก
องค์การนาซาและบริษัทสเปซเอ็กซ์ ผู้นำด้านเทคโนโลยีขนส่งอวกาศภาคเอกชน สัญชาติอเมริกัน ได้ทำการส่งจรวดฟัลคอน 9 ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยของศูนย์อวกาศเคเนดี ในรัฐฟลอริดา ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ เมื่อเวลาประมาณ 06.03 นาทีที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย หลังได้ประกาศเลื่อนการส่งมาก่อนหน้านี้
ภารกิจดังกล่าวขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือนาซา (NASA) และสเปซเอ็กซ์ มีชื่อว่า ภารกิจครูว์-10 (Crew-10) เพื่อส่งนักบินอวกาศชุดใหม่ 4 คนขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติหรือไอเอสเอส (ISS) และเตรียมรับตัว “สุนิตา วิลเลียมส์” และ “บุตช์ วิลมอร์” นักบินอวกาศของนาซา 2 คนที่ติดค้างอยู่บนไอเอสเอส นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2024 กลับลงสู่พื้นโลก
สำหรับ 2 นักบินอวกาศมากประสบการณ์ของนาซาและเป็นนักบินทดสอบของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เกษียณอายุแล้ว เป็นนักบินอวกาศกลุ่มแรกที่โดยสารแคปซูลอวกาศสตาร์ไลเนอร์ของโบอิงในการเดินทางขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2024
อย่างไรก็ตาม ระบบขับเคลื่อนของยานสตาร์ไลเนอร์ ที่ประสบปัญหาขัดข้องระหว่างทำการบิน ทำให้นาซา ตัดสินใจขยายเวลาภารกิจของนักบินทั้งสองคนออกไป จากแผนเดิมที่วางไว้เพียง 8 วัน หลังจากทำการประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงเกินไปที่จะเดินทางกลับลงมาพร้อมกับยานที่ถูกส่งกลับลงมาสู่พื้นโลกโดยไม่มีนักบินอวกาศ ในอีก 3 เดือนต่อมา
ภารกิจครูว์-10 (Crew-10) ในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการหมุนเวียนนักบินอวกาศประจำสถานีอวกาศแล้ว ยังเป็นขั้นตอนสำคัญในการนำตัวนักบินอวกาศทั้งสองกลับมายังโลก โดยมีกำหนดเตรียมเดินทางออกจากไอเอสเอสในวันที่ 19 มีนาคมนี้หลังจากที่นักบินชุดใหม่ไปถึงสถานีในคืนวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม
ทั้งนี้ ภารกิจนี้ยังกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ และที่ปรึกษาของเขา อย่าง “อีลอน มัสก์” มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ซึ่งเป็นซีอีโอของสเปซเอ็กซ์ กล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานยืนยันว่า อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นผู้ปล่อยนักบินอวกาศทั้งสองคนไว้บนสถานีอวกาศด้วยเหตุผลทางการเมือง