มุ่งหน้าคืนชีวิตให้ “แก่นมะกรูด” หยุดการพังทลายหน้าดิน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ภายใต้เทือกเขาสูง เขียวขจี ของ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ยังมีพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการชะล้างพังทลายของหน้าดินจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ซึ่งเรื่องนี้จะถูกหยุดด้วย “ศาสตร์พระราชา”

เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้า มุ่งหน้า ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ผ่านโค้ง ผ่านป่าเขียว ก่อนที่จะเริ่มเห็นแปลงเพาะปลูกพืชผลของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งถ้าดูจากสายตาเราคงไม่เห็นแก่นของปัญหาที่เกิดขึ้นกับผืนดินแห่งนี้ และหากไม่รีบหยุดก็อาจสร้างความเสียหายจนสายเกินไป ในฤดูฝนพื้นที่เพาะปลูกใน ต.แก่นมะกรูด ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เลยหน้าดินถูกชะล้างพังทลายพัดพาแร่ธาตุไปจนหมด และนั้นส่งผลทำให้ผลผลิตข้าวโพดลดลงจนถึงขั้นขาดทุน และสิ่งที่ชาวบ้านทำได้คือการนุกผืนที่ป่าเพื่อหาแหล่งเพาะปลูกใหม่ไปเรื่อยๆ เป็นที่มาให้มูลนิธิปิดทองหลังพระยื่นมือเข้ามาช่วย มาศึกษาถึงต้นตอของปัญหาด้วยจุดประสงค์คือ “รักษาผืนป่า สร้างคน สร้างอาชีพ” 

ประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เล่าให้เราฟังว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งซึ่งชาวบ้านต้องการรักษามรดกโลกไว้ นั่นหมายความว่า ต้องกำหนดขอบเขตการทำพื้นที่เพาะปลูกให้ชัดเจนระหว่างคนกับป่าเพื่อไม่ให้คนรุกล้ำเขตป่า ด้วยการปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูกให้สามารถทำได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทั้งน้ำ ดิน ที่สมบูรณ์ ก็จะสามารถเพาะปลูกได้

“พื้นที่แก่นมะกรูดมีรถไถไม่น้อยกว่า 240 คัน การใช้เครื่องจักร ไถพรวนหน้าดินในพื้นที่ลาดชันเพื่อทำไร่ กับการเผาหน้าดิน เป็นตัวเร่งการชะล้างพังทลายของดินให้รุนแรง ซึ่งพื้นที่นี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเป็นป่าต้นน้ำ และป่ารอยต่อป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อพื้นที่เดิมทำเพาะปลูกไม่ได้ ป่าก็เสี่ยงที่จะถูกบุกรุกเพิ่ม”

คุณภาพของดินที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการทำพืชเชิงเดี่ยวค่อนข้างมาก มีการเซาะพังทะลายของดินแต่สิ่งสำคัญคือการปรับเปลี่ยนทัศนคติการใช้ประโยชน์จากดินให้ถูกวิธี ซึ่งมูลนิธิปิดทองหลังพระเข้ามาช่วยตรงนี้ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ

ทั้งนี้ ต้นน้ำ คือ ทำฝายชะลอน้ำในรูปแบบต่างๆ  กลางน้ำ เน้นทำเกษตรทฤษฎีใหม่  ส่วนปลายน้ำ คือ เมื่อมีน้ำก็ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นพืชผสมผสานมากขึ้น เพื่อลดการเซาะพังทลาย

ขั้นต่อมาเมื่อชาวบ้านเพาะปลูกมีผลผลิตก็จะต้องหาช่องทางเชื่อมต่อตลาดภายนอกด้วยการดึง ทีมดี หรือ การบูรณาการกับภาคเอกชนเข้ามาทำการตลาดเพื่อเชื่อมโยงสินค้าสู่ตลาดภายนอก หนึ่งในนั้นคือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โครงการ "Stop Soil Erosion, Save our Future หยุดการชะล้างพังทลายของดิน คืนชีวิตให้แก่นมะกรูด ด้วยศาสตร์พระราชา" ภายใต้แนวคิด Greenovate our tomorrow เพื่อคืนพื้นที่ป่าและสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า โครงการสร้างฐานอาชีพ โดยการพัฒนาพื้นที่ ดิน น้ำ ให้พร้อมกับการประกอบอาชีพ โดยนำร่องก่อน 4 แปลง พื้นที่กว่า 20 ไร่  ด้วยการปรับหน้าดิน จากเดิมเป็นที่ราบสูง น้ำทำลายดิน ดินถูกชะล้าง การชะลอน้ำด้วยการทำคลองไส้ไก่ ส่วนในเชิงการตลาด บางจาก นำพืชผลที่ได้ไปจำหน่ายต่อ เช่น สตรอว์เบอร์รี และกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว นำระบบดิจิทัลเข้ามาสู่การโปรโมท และขณะนี้ได้นำพืชอ้อยมาทดลองปลูกอีกด้วย โดยวางแผนกำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์สำคัญและติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวเนื่องจากการหยุดชะล้างหน้าดินร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี

แต่ไม่ใช่ที่แก่นมะกรูดที่เดียวที่มีปัญหา...

ในภาพกว้างพื้นที่การชะล้างหน้าดินยังมีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่ง ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ บอกว่า ทั้งประเทศ 108 ล้านไร่ จากพื้นที่การเกษตร 149 ล้านไร่ ถ้าคำนวณความเสียหายต่อปีเท่าๆ กับเงินที่รัฐบาลเก็บภาษีได้เลย ทุกคนต้องมีความรู้ความเข้าใจ เห็นคุณค่าของดิน ซึ่งมีวิธีการมากมายและชาวบ้านทำเองได้

อีกไม่นานแก่นมะกรูดจะกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่ “หนาวนี้ต้องห้ามพลาด” ที่มีทั้งอากาศอันบริสุทธิ์ และ พืชผลทางการเกษตรที่เกิดจากดินอันอุดมสมบูรณ์

จากโครงการทั้งหมดจะสามารถทำให้ชาวบ้านรักษาพื้นที่ทำกินอันอุดมสมบูรณ์ไว้ได้มากน้อยเพียงใด บทเรียนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นอย่างไร ติดตามความรู้สึกเกษตรกรได้ที่คลิปด้านล่าง

 

เรื่องที่คุณอาจพลาด
วิดีโอยอดนิยม

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์


TOP ประเด็นร้อน

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ