เปิดกฎหมาย “สูบบุหรี่ในบ้าน” ผิดจริงหรือไม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดกฎหมาย พระราชบัญญัติ ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว เขียนห้ามสูบบุหรี่ในบ้านจริงหรือไม่ เผยไม่ใช่เห็นใครสูบก็จับได้ หากต้องพิสูจน์จากแพทย์ว่าได้รับผลกระทบ และให้ศาลสั่งคุ้มครอง

จากกรณีที่ด้านนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  ออกมาระบุว่า จากการที่พระราชบัญญัติ ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562  ประกาศใช้แล้วและจะทำให้ สามารถเอาผิดกรณีการสูบบุหรี่ในบ้านได้

อย่างไรก็ตามเมื่อไปเปิดดูจะเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไม่ได้เขียนไว้ตรงตัว ว่าการสูบบุหรี่ในบ้านเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ก็เขียนไว้ให้สามารถตีความ

โดยการตีความดังกล่าวต้องดูคำนิยามในมาตรา 4 วรรหนึ่งและวรรคสองประกอบกัน โดย วรรคหนึ่งได้นิยามคำว่า  “ความรุนแรงในครอบครัว”   หมายถึว การกระทำใดๆที่บุคคลในครอบครัวได้กระทำต่อกันโดยเจตนาให้เกิดหรือลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ ใจ สุขภาพ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ”

และวรรคสองนิยามคำว่า  “บุคคลในครอบครัว” ซึ่งหมายถึง “บุพการี คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กิน หรือเคยอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส บุตรบุญธรรม รวมทั้งบุคคลใดๆที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน”

จากทั้งสองวรรค มีคำบ่งชี้ที่สำคัญคือ “ก่อให้เกิดอันตรายแต่ สุขภาพ”  และ  “บุคคลใดๆที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน” 

ทำให้มีการตีความว่า การสูบบุหรีนั้นก็ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนที่อาศัยอยู่ในบ้านหรือในครัวเรือนเดียวกัน

ผิดกฎหมาย !! สูบบุหรี่ในบ้าน ดีเดย์ 20 ส.ค.นี้

ทอท. ยกเลิก “ห้องสูบบุหรี่”ภายในอาคารท่าอากาศยานทุกแห่ง

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่า หากเห็นใครสูบบุหรี่ในบ้านแล้วสามารถแจ้งจับ หรือจะเป็นความผิดไปเสียทั้งหมด โดย นายเลิศปัญญา  บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า  หากได้รับผลกระทบหรือพบเห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบก็สามารถร้องไปศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ที่มีอยู่ทุกจังหวัด หรือ พม.จังหวัดได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล และให้บุคลากรทางการแพทย์พิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการสูบบุหรี่จริงหรือไม่ หากได้รับผลกระทบจริง หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพ 

“ซึ่งการตีความเช่นนี้ก็มิใช่เพียงบุหรี่ แต่หากได้รับผลกระทบจากยาเสพติดหรือสุราก็สามารถร้องเอาผิดได้” นายเลิศปัญญาระบุ

ทั้งนี้ในกฎหมายฉบับดังกล่าวมาตรา 23 ระบุว่า  ผู้ใดพบเห็นหรือทราบว่ามีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ โดยสามารถแจ้งได้ทั้งเป็นหนังสือ โทรศัพท์วิธีการอีเล็กโทรนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด  และเมื่อได้รับแจ้งศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวต้องตรวจสอบโดยไม่ชักช้า  และให้ยื่นต่อศาลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24

โดยในมาตรา 29 หากมีความเห็นสมควรให้คุ้มครองสวัสดิภาพ  ให้ยื่นร้องต่อศาลเพื่อมีคำสั่งคุ้มครอง โดย ต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ว่าจะเป็น ให้ผู้กระทำไปพบเจ้าพนักงานตามระยะเวลา การห้ามเสพสิ่งเสพติด หรือการให้เข้ารับการบำบัด รวมถึงสั่งให้ถอนการเป็นผู้อนุบาล

อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการระบุชัดว่าการสูบบุหรี่ในบ้านมีโทษทางอาญาหรือไม่

 

แต่ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว 2550  มาตรา 4 ระบุว่าต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ