จี้ กต.แจงทีโออาร์ประกวดราคาทำพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การประกวดราคาหาผู้จัดทำหนังสือเดินทาง 15 ล้านเล่ม ระยะเวลา 7 ปี ของกระทรวงต่างประเทศ ถูกกิจการร่วมค้า 3 ราย ที่แพ้ในการประกวดราคา เรียกร้องให้เปิดเผยเทคโนโลยีการผลิต หลังพบว่า กิจการ่วมค้าที่ชนะการประกวดราคา สามารถเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางมากกว่า 4,000 ล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นเป็นบริษัทที่ทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กับรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพลายน้ำที่ดูด้านขวามือของหนังสือเดินทาง คือ สิ่งที่ตัวแทน 3 กิจการร่วมค้าที่แพ้การประกวดราคาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 กับ กระทรวงการต่างประเทศ อธิบายว่า เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงของการจัดทำหนังสือเดินทาง ลายน้ำดังกล่าวจะปรากฎขึ้นเมื่อนำพลิกหนังสือเดินทางไปมาเท่านั้น เทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้างภาพเสมือนนี้ เรียกว่า การ “ปรุภาพเสมือนจริงด้วยเลเซอร์” หรือ image perforation using laser ถือเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบัน และเป็นมาตรฐานที่สูงที่สุดที่ ICAO ยอมรับ

สาเหตุที่ต้องอธิบายเทคโนโลยีที่ใช้ในหนังสือเดินทาง เนื่องจาก ต้องการให้กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า กิจการร่วมค้า DGM Consortium ซึ่งชนะการประกวดราคาได้สิทธิ์จัดทำหนังสือเดินทาง ใช้เทคโนโลยีใดในการจัดพิมพ์หนังสือเดินทาง โดยตั้งข้อสังเกตว่าขอบเขตงาน หรือ ทีโออาร์ ที่ใช้ในการประกวดราคาครั้งนี้ ตัดทอนข้อความสำคัญออกไป คือ ข้อความที่เคยระบุว่า “ต้องสร้างภาพเสมือนจริงด้วยการพิมพ์แบบปรุ” เหลือเพียงการกำหนดว่า “ต้องสร้างภาพเสมือนจริงด้วยเลเซอร์” เท่านั้น

การตัดข้อความสำคัญเช่นนี้ออกจากทีโออาร์ ทำให้เข้าประกวดราคาอีก 3 ราย ที่แพ้การประกวดราคา มองว่า เป็นการเขียนอย่างกว้างและถือว่าครอบคลุมเทคโนโลยีอีกรูปแบบหนึ่ง อาจทำให้สามารถนำเทคโนโลยีที่มีราคาถูกกว่าเข้ามาประกวดราคา คือ “การสร้างภาพเสมือนด้วยเทคโนโลยีแกะสลัก” หรือ “Laser Engraving” ซึ่งคล้ายการพิมพ์ภาพลงบนหนังสือเดินทาง แต่เทคโนโลยีนี้จะทำให้สามารถ “ลอกชั้นผิว” ของหนังสือเดินทางออกได้ ทำให้ถูกปลอมแปลงได้ง่าย ต่างจาก “การปรุ” ที่ทุกชั้นผิวของหนังสือเดินทางจะมีแสงเลเซอร์รูปเสมือนติดอยู่

นายธนัญชัย แซ่ฉั่ว ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเดินทางของกิจการร่วมค้า จันวาณิชย์ หนึ่งในเอกชนที่แพ้การประกวดราคา ระบุว่า ในทีโออาร์มีหมายเหตุระบุว่า “เทคโนโลยีที่ใช้จะต้องเทียบเท่าหรือดีกว่าเดิม” แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าใช้เทคโนโลยีใด จึงเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศเปิดข้อมูลให้ชัดเจน เพื่อจะได้ตรวจสอบว่าเทคโนโลยีที่ผู้ชนะการประกวดราคาเลือกใช้ดีกว่าการปรุภาพอย่างไร

เมื่อถามว่าหากใช้เทคโนโลยีการปรุภาพเหมือนเดิม ต้นทุนจะสูงกว่าราคา 7,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกเสนอโดยบริษัทที่ชนะการประกวดราคาหรือไม่ ตัวแทนจาก 3 กิจการร่วมค้า ที่แพ้การประกวดราคา ระบุว่า ไม่สามารถเทียบได้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถทำให้ราคาถูกลงได้

ด้านนายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จัดแถลงข่าวชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม โดยระบุว่า เทคโนโลยีที่กิจการร่วมค้า DGM Consortium ใช้ คือ Window Lock พร้อมระบุว่ามีหลายประเทศที่ใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น สิงคโปร์

ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเดินทางของกิจการร่วมค้า จันวาณิชย์ระบุว่า คือ Window Lock  เป็นการเจาะกรอบด้วยเลเซอร์และสลักภาพเสมือนลงไป มีรายงานว่า Window Lock  เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัทในกลุ่มกิจการร่วมค้า DGM Consortium หมายความว่าการจะเปรียบเทียบว่าดีกว่าหรือเทียบเท่าการปรุภาพเป็นไปได้ยาก

สำหรับการประกวดราคาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 ของกระทรวงการต่างประเทศ มีกิจการร่วมค้า 4 แห่ง ยื่นเสนอราคา คือ กลุ่มกิจการ DGM Consortium มี บริษัท ดาต้าโปรดักส์ ทอปปัง ฟอร์ม จำกัด เอกชนที่เป็นคู่สัญญาทำบัตรประจำตัวประชาชน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ บริษัท Gemalto ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้าที่ชนะการประกวดราคาได้สิทธิ์จัดทำหนังสือเดินทางให้กระทรวงการต่างประเทศ 15 ล้านเล่ม หลังเสนอราคา ประมาณ 7400 ล้านบาท จากราคากลางกว่า 12,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางมากกว่า 4000 ล้านบาท จึงเป็นเหตุให้ถูกสงสัยว่า ใช้เทคโนโลยีใดในการจัดทำ

ส่วนอีก 3 กิจการร่วมค้าที่แพ้และจัดแถลงข่าวในวันนี้ คือ กิจการร่วมค้า จันวาณิชย์ มี บริษัท จันวาณิชย์ จำกัด และบริษัท จันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้ พริ้นท์ติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญากับกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน กิจการร่วมค้า WIN ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ศิริวัฒนาซีเคียวริตี้พริ้นท์, บริษัท MSCS สิทธิผล จำกัด และ เดอร์มาล็อก โอเดนติฟิเคชั่น ซิสเต็มส์ จีเอ็มบีเอช (เยอรมัน) และ กิจการร่วมค้า TIM ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด, IDEMIA (ฝรั่งเศส) MSC และ ซีพี

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ