รวมพลัง “เอามื้อ” ฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสักจากสภาพเสื่อมโทรมสู่พื้นที่ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยพืชเชิงเดี่ยว ดินปนเปื้อนสารเคมีหน้าดินเสื่อมโทรม ไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชและกักเก็บน้ำไว้ได้ สู่การพลิกฟื้นผืนป่าให้ค่อยๆกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง จากการรวมพลังเอามื้อสามัคคี ทำให้ แปลงไร่นาป่าสวนขุนเลย กลายเป็นพื้นที่ทำกินที่อยู่คู่กับป่าได้อย่างสันติสุข

หากกล่าวถึงคำว่า “เอามื้อ” ซึ่งเป็นภาษาเหนือ ในภาษาอีสานคือการเอาแห้ง ทั้งสองคำหมายถึง “ช่วยกันทำ” เป็นกลวิธีหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้ว โดยรวมพลังกันมาเอามื้อเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำเมืองไทยกันที่  จ.เลย อันเป็นป่า “ต้นกำเนิดลุ่มน้ำป่าสัก” และการมาเอามื้อครั้งนี้ เป็นการร่วมตัวของคนมีใจ กว่า 600 คน จากทุกภาคส่วน เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับคนในลุ่มน้ำอื่นๆ ลงมือทำตามตรงกับแนวคิดของปีนี้ที่ว่า  “แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี”

ปั่นตามรอยพ่อ ปีที่ 7 ชื่นชมผลผลิตจากศาสตร์พระราชา

คนมีใจที่เข้าร่วม  เช่น เครือข่ายฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก 7 จังหวัด เครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ คนมีใจที่สมัครมาทางออนไลน์ และที่เป็นเหมือนหัวเรือใหญ่อย่างภาคเอกชน คือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด พร้อมด้วยแม่ทัพใหญ่คือ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อาจารย์ยักษ์) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันรั้งตำแหน่งเป็นนายกสมาคมดินโลก นอกจากนั้นยังมีภาคราชการ นำโดยนายชัยวัฒน์ ชื่อโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และภาคส่วนอื่นๆได้แก่ ภาควิชาการ ประชาชน ภาคประชาสังคม ศาสนา และสื่อมวลชน ที่เดินทางมารวมตัวกันในครั้งนี้

รวมพลังปั่นตามรอยพ่อ ปีที่ 7 ชื่นชมผลผลิตจากศาสตร์พระราชา

และจุดลงมือเอามื้อ คือ แปลงไร่นาป่าสวนขุนเลย บ้านศรีเจริญ ต.เลยวังไสย์ อ.ภูหลวง จ.เลย ของนายแสวง ดาปะ (พ่อมิ้น) พื้นที่ขนาด 50 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่กสิกรรม 8 ไร่ มีเป้าหมายให้เป็นพื้นที่ของการขยายแนวความคิดการทำ “วนเกษตร” หรือ การทำเกษตรในพื้นที่ป่า ตามแนวคิดปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สู่เพื่อนเกษตรกรด้วยกันในพื้นที่ป่าต้นน้ำ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรื่องการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากป่า เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า โดยทั้งหมดต้องทำควบคู่กันไป

“หัวหน้าฉิม” ผู้ยึดมั่นในศาสตร์พระราชาทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้พื้นที่ไร่นาป่าสวนขุนเลย เคยทำพืชเชิงเดี่ยวอย่าง ข้าวโพด ลูกเดือย แม้จะได้ผลผลิตมาก ขายได้ แต่ก็ต้องแลกมากับการเป็นหนี้ เพราะพื้นที่ที่ใช้ปลูกนั้นถูกทำลายลงทุกปี ดินเสื่อมโทรมก็ต้องใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมีเร่งผลผลิต เมื่อถึงจุดที่อยากปลดหนี้ จึงตัดสินใจศึกษาดูงานที่มูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ช่วงปี 2543-2544 จากนั้นจึงกลับมาตั้งกล่มออมทรัพย์เกษตรยั่งยืน ค่อยๆ เปลี่ยนมาปลูกพืชผสมผสาน ลิ้นจี่ ลำไย ผักหวาน แม้วันนี้ยังมีหนี้สินแต่ก็ถือว่าลดลงกว่าแต่ก่อน เพราะไม่ต้องไปลงทุนเมล็ดข้าวโพด แต่ปลูกฝ้ายเก็บเมล็ดพันธุ์เอง ขุดบ่อบาดาล ที่สำคัญปัจจุบันนี้ยังมีพืชผลที่เก็บได้ตลอดทั้งปี อย่าง ยอดหวายและมะขามหวาน รวมถึงสมุนไพรขมิ้น เปราะหอม และไพร สามารถขุดไปขายได้

“โคก หนอง นา” โมเดล ดูแลป่าต้นน้ำเมืองไทยตามศาสตร์พระราชา

และอย่างที่กล่าวก่อนหน้าว่า เป้าหมายสำคัญที่นายแสวงตั้งใจไว้ให้ แปลงไร่นาป่าสวนขุนเลย เป็นพื้นที่ของการขยายแนวความคิดเรื่องการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สู่เพื่อนเกษตรกรด้วยกันในพื้นที่ป่าต้นน้ำ กิจกรรมเอามื้อจึงเริ่มตั้งแต่การขุดนาขั้นบันได ขุดคลองไส้ไก่ ทำแฝกเสริมไผ่ ทำฝายมีชีวิต ปลูกป่า 5 ระดับ เพาะกล้าสมุนไพร และ ไฮไลท์คือ “การดำนาปลูกข้าวเหนียวพื้นเมืองอย่าง “แดงเมืองเลย” ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวพื้นเมืองของ จ.เลย ลักษณะเด่นคือความหอมอันเป็นเอกลักษณ์ มีเปอร์เซ็นต์น้ำตาลต่ำเหมาะกับคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน”

พื้นที่ 8 ไร่ของไร่นาป่าสวนขุนเลยถูกออกแบบให้เป็น โคก 3.5 ไร่ ไว้ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หนอง สำหรับเก็บน้ำฝนและเลี้ยงปลา 1.5 ไร่ และนาอีก 2.5 ไร่ แบ่งเป็นนาราบเพื่อสร้างแหล่งอาหารบนคันนาทองคำ และทำร่องน้ำรอบแปลงนา มีนาดอน นาขั้นบันได ทั้งยังมีคูคลองไส้ไก่ ส่วนพื้นที่อื่นๆนอกเหนือจาก 8 ไร่นี้ยังมีสวนผสมผสานอันประกอบด้วย แปลงลิ้นจี่ 14 ไร่ ขิง 15 ไร่ และเตรียมพันธุ์ของกาแฟ หมากเม่าไว้ลงปลูกอีกประมาณ 30 ไร่

จากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยพืชเชิงเดี่ยว ดินเสื่อมโทรม กักเก็บน้ำไม่ได้ ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นบนไร่นาป่าสวนขุนเลยสามารถสร้างขยายเครือข่ายพัฒนาภูหลวงอย่างยั่งยืนได้ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อ.วังสะพุง อ.ภูหลวง อ.ภูเรือ และ อ.ด่านซ้าย สมาชิก 104 คน ยอดเงินออมอีก 1,200,000 บาท และการเอามื้อครั้งนี้ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ “ไร่นาป่าสวนขุนเลย”กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบที่สมบูรณ์ สมบูรณ์ทั้งพื้นที่ทำกิน สมบูรณ์ทั้งผืนป่า โดยทั้ง 2 ส่วนจะอยู่เคียงคู่กันตลอดไป

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ