กุล ปัญญาวงศ์ "แม่ทัพสู้เพื่อรักษาป่าต้นน้ำ" แรงบันดาลใจจากเด็กชายชาวภูฏาน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กุล ปัญญาวงศ์ ผู้ละทิ้งวิถีชีวิตแบบ "คนเมือง" กลับสู่บ้านเกิดเพื่อปกป้องฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน ลองผิดลองถูก จนพบหนทางที่เหมาะกับตัวเองด้วยศาสตร์พระราชา ซึ่งครั้งหนึ่งเธอเคยล้มเลิกความตั้งใจไปแล้ว แต่เพราะได้เจอกับเด็กชายจากประเทศภูฏานที่มาเรียนรู้เพื่อนำกลับไปพัฒนาบ้านเกิด เขากลับปลุกพลังให้เธออีกครั้งจนเกิดเป็น "จอบเปลี่ยนน่าน" โมเดลเพื่อรักษาป่าต้นน้ำเมืองไทย

จากนิสัยชอบความท้าทาย สู่ เส้นทางการรักษาป่าต้นน้ำเมืองไทย จังหวัดน่านคือหนึ่งในจังหวัดทางภาคเหนือ ที่กำลังเผชิญกับปัญหาป่าไม้ถูกทำลายซึ่งมีผลพวงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จากภูเขาเขียวขจีกลายเป็นเขาหัวโล้น จากป่าอุดมสมบูรณ์กลายเป็นพื้นที่เผชิญภัยพิบัติทุกรูปแบบ ทั้งภัยแล้งและอุทกภัย ทั้งที่เป็นจังหวัดแห่งป่าต้นน้ำสำคัญแห่งหนึ่งของไทย แต่วันนี้ กุล ปัญญาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน (ชตน.) อ.ท่าวังผา จ.น่าน กำลังจะทำให้ผืนแผ่นดินในจังหวัดน่าน กลับไปเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ภายใต้รูปแบบ “จอบเปลี่ยนน่าน” ด้วยศาสตร์พระราชา แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้เธอเคยผิดพลาดมาแล้วหลายครั้ง

ปริญญา ผู้สร้างดินแดนของ “ฅนฮักถิ่น” ลูกอีสานผู้ยึดมั่นในศาสตร์พระราชา

ด้วยนิสัยเธอชอบความท้าทาย การผจญภัย ประกอบกับได้ลุยงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง จึงตั้งใจกลับมาอยู่ที่ จ.น่าน บ้านเกิด และพบว่า คนในหมู่บ้านเป็นโรคผิวหนัง เรียกว่า มะเร็งไข่ปลา คร่าชีวิตคนไป 3-4 คน ซึ่งคนน่านเป็นมะเร็งเยอะที่สุดเพราะพืชเชิงเดี่ยว ทั้งปุ๋ยและยาฆ่าหญ้า รวมทั้งเมืองขยาย ป่าถูกบุกรุก จนในที่สุดป่าต้นน้ำหายไปกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ

เธอจึงกลับมาพร้อมความตั้งใจตระเวนหาที่ดิน ใช้เงินก้อนที่จัดสรรไว้ ลงแรงปลูกต้นไม้ให้มากที่สุด แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่เธอทำ “ผิดทั้งหมด” ซ้ำสิ่งที่ปลุกกลับล้มตายไปเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญจำนวนเงินที่วางแผนมาดีเพื่อการนี้สุดท้าย “ไปไม่ไหว”

สุดท้ายหันกลับมาถามตัวเอง จากชีวิตที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีทุกสิ่งพร้อมสรรพ มีลูกน้องทีมงาน แต่เราอาจจะไม่มีความสามารถด้านนี้ ทำจนท้อเพราะมันไม่ง่ายอย่างที่คิด

"ลุงดาบ" ผู้สานต่อศาสตร์พระราชา มุ่งมั่นถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

จนกระทั่ง...เด็กชายคนหนึ่งจากประเทศภูฏานจุดพลังจากที่ล้มให้กุลลุกขึ้นอีกครั้ง

เมื่ออาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเด็กชาวภูฏานมาอยู่ด้วย 1 คน คือ  Tshokey Dorji  นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาผู้ประกอบการสังคม สถาบันอาศรมศิลป์ จากเดิมตั้งใจจะไม่สอนเกี่ยวกับการทำกสิกรรม แต่กลับกลายเป็นว่า Tshokey เองเสียอีกที่มีความมุ่งมั่นลงมือทำซ้ำๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะเขาเชื่อว่า “ยิ่งทำยิ่งมีความรู้เพิ่ม” และตั้งแต่นำกลับไปลงมือทำที่ประเทศภูฏานโดยเป้าหมายให้เป็นอิสระจากการเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ เด็กชายที่อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนรู้กับเธอเพื่อกลับไปช่วยบ้านเกิดคนนี้เอง ที่ทำให้กุลหันกลับมาถามตัวเองอีกครั้งว่า “ตั้งใจมาขนาดนี้แล้วทำไมถึงเลิกทั้งที่เราต้องอยู่ที่นี่ตายที่นี่”

จากนั้นเธอจึงตัดสินใจเดินเข้าไปเผชิญหน้ากับปัญหา “ลุกขึ้นใหม่ด้วยความหวังและความรู้” ลงมือทำด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูก เรียนรู้ด้วยตัวเอง พัฒนาตัวเอง จะผิดจะถูกก็คือประสบการณ์และทำเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านได้เห็นว่า “ขนาดคนที่ไม่เคยทำมาก่อนอย่างเธอยังทำได้ ถ้าชาวบ้านยิ่งทำยิ่งจะง่ายกว่า” จึงเป็นกำลังสำคัญพาชาวบ้านลงมือทำไปด้วย สุดท้ายกุลกลายเป็น แม่ทัพสมรภูมิรบรักษาป่าต้นน้ำ

กุล ใช้ทั้งคน ใช้ทั้งมือ ใช้ทั้งความสามัคคี สืบสานศาสตร์พระราชา ในรูปแบบ “จอบเปลี่ยนน่าน” สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน จนชาวบ้านพึ่งตัวเองได้ สุดท้าย “เมื่อคนอยู่ได้ ป่าก็จะกลับมา ถ้าชาวบ้านทำสำเร็จ ป่าน่านก็จะเปลี่ยน”

สูตรสำรับอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นบน “ภูหลวง” ด้วยฝีมือระดับเชฟโจ้สร้างมูลค่าพืชผลเพื่อชาวบ้าน

เปิด “บ้านฟากนา ฟาร์มสเตย์” ของอดีตเซลล์หันหลังให้ชีวิตกรุงเทพฯสู่กสิกรรมธรรมชาติบนความพอเพียง

จากพลังของเด็กชายชาวภูฏานคนหนึ่งที่ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเกิดเป็นความรู้พอกพูนขึ้น เพื่อตั้งใจนำกลับไปช่วยเหลือประเทศบ้านเกิด ปลุกพลังให้เธอลุกขึ้นพลิกฟื้นเปลี่ยนป่าน่านอันเป็นแผ่นดินบ้านเกิดของเธอตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นน้ำน่าน”  โดยใช้คำว่าปฏิบัติการ “จอบเปลี่ยนน่าน” สร้างความเขียวชอุ่มด้วยป่า 5 ระดับ มีผลผลิตเพียงพอ ไว้กิน ใช้และแปรรูป จนครบบันได 9 ขั้น  และหัวใจสำคัญที่ประสบความสำเร็จคือ สามารถอบรมส่งต่อความรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาไปแล้วกว่า 30 รุ่น

และในวันนี้ กุล ยังเป็นอีกหนึ่งแม่ทัพสำคัญในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 7 แล้ว เพื่อฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยตามแนวทางศาสตร์พระราชา โดยมีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นกำลังหลักในการดำเนินโครงการฯ โดย กุล ได้มาเป็นครูพาทำให้กับคนมีใจในโครงการฯ มาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งสำคัญคือ การสร้างต้นแบบโคก หนอง นา “คนเบื่อเมือง” ที่ห้วยกระแทก จ.ลพบุรี กิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่ จ.น่าน และในปีที 7 นี้ได้เป็นครูพาทำกิจกรรม “ปลูกแฝกเสริมไผ่” เพื่อลดการพังทลายของหน้าดินที่ จ.เลย

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ