กสทช.-มธ.ประเมินพฤติกรรมบริโภคสื่อ ชี้ผู้สูงอายุยังต้องการสื่อดั้งเดิม คาดยังอยู่ได้อีก 10 ปี ด้านคนรุ่นใหม่เน้นออนไลน์

เมื่อวันที่ (18 พ.ย.62) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย พบว่า ในบรรดาสื่อทุกประเภท คนไทยมีการบริโภคสื่อภาพเคลื่อนไหว มากที่สุด โดยมีผู้รับชมร้อยละ 85.9 รองลงมา ได้แก่ การบริโภคสื่อกลางแจ้ง (ป้ายโฆษณาต่างๆ) ซึ่งมีผู้พบเห็นสื่อประเภทดังกล่าวร้อยละ 84.3 สำหรับสื่อทางเสียง และสื่อภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มีผู้บริโภคร้อยละ 55.6 และร้อยละ 51.5 ตามลำดับ ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสื่อที่มีผู้บริโภคน้อยที่สุด โดยมีผู้อ่านสื่อสิ่งพิมพ์เพียงร้อยละ 33.7 เท่านั้น
ปิดตัว!! “สื่อสิ่งพิมพ์” นักวิชาการแนะใช้ “สื่อออนไลน์” ต่อลมหายใจ
โดยพฤติกรรมการบริโภคสื่อในประเทศไทย กลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 57 ปีขึ้นไป (กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และกลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ.) ยังบริโภคสื่อในรูปแบบดั้งเดิมค่อนข้างมาก อาทิ การรับชมรายการโทรทัศน์สดตามตารางออกอากาศ/ผังรายการ และการอ่านหนังสือพิมพ์ในรูปแบบกระดาษ ส่วนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 41 ปี หรือน้อยกว่า (กลุ่มเจเนอเรชันวายและแซด) มีการบริโภคสื่อหลากหลายช่องทางมากขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคสื่อออนไลน์ สำหรับกลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ (ช่วงอายุ 42-56 ปี) เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมคาบเกี่ยวระหว่างทั้งสองกลุ่มข้างต้น ความแตกต่างนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่าง
ขณะที่ในปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่มีรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่บริโภคเป็นประจำ ซึ่งในทางหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความซื่อสัตย์ (Loyalty) ของผู้บริโภคในสื่อประเภทต่าง ๆ ลดน้อยลง โดยผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่ต้องการมากกว่าแบรนด์ และเลือกบริโภครายการประเภทที่ตนสนใจเท่านั้น
ผู้ประกอบการทีวี - กสทช. ถกไม่จบ ปัญหากฎ Must Carry เหตุขัดกฎหมายลิขสิทธิ์
จากการศึกษาโดยใช้แบบจำลองเศรษฐมิติ พบว่า ปัจจัยด้านรายได้และระดับการศึกษา มีผลต่อความแตกต่างของพฤติกรรมการบริโภคสื่อ โดยรายได้เป็นปัจจัยที่สร้างความแตกต่างในการเข้าถึงสื่อผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ (ในที่พักอาศัย) ครัวเรือนที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มเชื่อถือโฆษณาจากสื่อออนไลน์มากขึ้น แต่เชื่อถือโฆษณาจากสื่อโทรทัศน์น้อยลง นอกจากนี้ กลุ่มที่มีการศึกษาสูงและมีรายได้สูงมีสัดส่วนการรับชมสื่อภาพเคลื่อนไหวผ่านอินเทอร์เน็ตสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีแนวโน้มรับชมรายการย้อนหลัง/ตามความต้องการ (On-demand) มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
ทั้งนี้สื่อหนังสือพิมพ์ถือเป็นสื่อที่สะท้อนสถานการณ์ Digital Disruption มากที่สุด โดยผู้บริโภคหันไปอ่านสื่อออนไลน์แทนการอ่านสื่อในรูปแบบกระดาษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเจเนอเรชันวายและแซด ที่มีการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประชากรอายุน้อยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคสื่อผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ในขณะที่ประชากรสูงวัยยังคงบริโภคสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมอยู่ แต่จากการคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต โดยใช้ Cohort Study พบว่า การลดลงของอัตราการเกิดและการเพิ่มขึ้นของอายุขัยเฉลี่ยเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การบริโภคสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมไม่ลดลงอย่างรวดเร็วนัก ประชากรสูงอายุของไทยจะยังคงมีความต้องการรับสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมอยู่ กล่าวคือ อีก 10 ปีข้างหน้า ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรยังมีแนวโน้มรับชมรายการโทรทัศน์สดตามตารางออกอากาศ/ผังรายการอยู่
พีพีทีวี คว้า 5 รางวัล ผลประกวดรางวัลข่าวดิจิทัล ปี 2562
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้