​กกต.ทดลองเลือกตั้ง ส.ส.ตามวิธีกมธ.ยกร่างฯ ชี้บัตรเสียอื้อ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการจำลองการลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและโอเพ่นลิสต์ โดยพบว่า 1 ชม. สามารถใช้สิทธ์ได้ 174 คน ซึ่ง กกต.กังวลว่าเกิดบัตรเสียได้ง่ายเพราะประชาชนสับสน


ผู้บริหารและพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 200 คน เข้าแถวรอลงคะแนนเลือกตั้ง ตามการจัดสาธิตการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ หรือโอเพนลิสต์ ของ กกต. ซึ่งเป็นวิธีการตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในขณะนี้


การสาธิตครั้งนี้มีการจำลองพรรคการเมือง 20 พรรค ก่อนจะเริ่มลงคะแนนตั้งแต่เวลา 09.00 น. และปิดหีบลงคะแนนในเวลา 10.00 น.


นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกิจการการเลือกตั้ง กล่าวสรุปผลการสาธิตการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ระยะเวลา 1 ชม. สามารถมีผู้ใช้สิทธิ์ได้ 174 คน และการกำหนดให้ผู้มีสิทธ์เลือกตั้งที่เลือกได้ 3 แบบนั้น ไม่มีผลต่อเวลาในการเลือกตั้ง แต่การนับคะแนนใช้เวลา 1 ชม.ครึ่ง ในการนับคะแนนของผู้มาใช้สิทธิ์ 174 คนต่อพรรคการเมือง 20 พรรค เพราะการนับคะแนนจะแยกนับคะแนนแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ โดยแบบบัญชีรายชื่อจะแยกเป็นรายพรรค และนับคะแนนอีกครั้งในแต่ละพรรคเพื่อจัดลำดับที่ประชาชนต้องการตามระบบโอเพ่นลิสต์


ดังนั้นระยะเวลาในการนับคะแนนจึงต้องเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันอุปกรณ์ที่ใช้ในแต่ละหน่วยก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะต้องจัดเตรียมให้เพียงพอกับพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ และมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้บัตรเสียเพิ่มขึ้นเพราะกระบวนการมีความซับซ้อนมากขึ้น


ขณะเดียวกัน นายสมชัยได้นำตัวอย่างบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อขนาดเท่าของจริงที่มีรายชื่อพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง 280 พรรคมาแสดงต่อสื่อมวลชน ซึ่งพบว่ามีขนาดกว้าง 45 ซม. ยาว 60 ซม. ซึ่งนายสมชัยได้ปฎิเสธที่จะไม่แสดงความคิดเห็น ว่าการเลือกตั้งแบบนี้เหมาะกับสถานการณ์บ้านเมืองหรือไม่ แต่จะจัดทำข้อสรุปส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรับทราบต่อไป


อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (19 พ.ค. 58) จะมีการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า การประชุมในวันพรุ่งนี้จะหารือกันว่าควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดช่องในการทำประชามติ แต่จะไม่มีการลงมติว่าต้องทำประชามติหรือไม่


นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังมีความกังวลถึงการทำงานของกรรมาธิการยกร่างฯ ว่าอาจจะพิจารณาแก้ไขไม่แล้วเสร็จทันใน 60 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อาจทำให้เกิดปัญหาได้ จึงจะเสนออีก 1 ทางเลือกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยให้เพิ่มระยะเวลาการทำงานของกรรมาธิการยกร่างออกไปอีก 30 วัน เพื่อพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ