ส่องผลประชุม กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 4 ครั้งใน 1 ปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ย้อนดูการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา

กลายเป็นข่าวใหญ่ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา เมื่อคืนนี้ (20 มี.ค. 63) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมนัดพิเศษ มีมติเอกฉันท์ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เหลือร้อยละ  0.75 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 63 เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงินและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ด่วน!! แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.25%

เปิดมาตรการดูแลเยียวยา ระยะที่ 1 ผลกระทบโควิด-19 จากรัฐบาล

โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าการระบาดของ COVID-19 ในระยะข้างหน้ารุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิม รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ การระบาดที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและกลไกการทำงานของตลาดการเงินไทย แม้ว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ

นิวมีเดีย PPTVHD36 จึงย้อนดูการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ผลการประชุม กนง. เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ภาพรวมระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อย 1.75 จึงมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ปรับลดครั้งที่ 1 วันที่ 7 ส.ค. 63 ผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 5/2562 ปรากฏว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าที่หดตัวและเริ่มส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย

ปรับลดครั้งที่ 2 ต่อมาวันที่ 6 พ.ย. 63 ผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 7/2562 คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี เนื่องจากประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลงซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย

ปรับลดครั้งที่ 3 เมื่อผ่านพ้นปี 2563 มาไม่นาน ในวันที่ 5 ก.พ. 63 ผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 1/2563 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี เนื่องจากประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก จากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลัง คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ปรับลดครั้งที่ 4 เมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทย ก็ทำให้ กนง. ต้องเร่งประชุมนัดพิเศษ จนมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังที่ระบุไว้ข้างต้น

ต้องติดตามต่อไปกันว่า ในวันที่ 25 มี.ค. 63 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นวาระการประชุมปกติของ กนง. จะมีความเคลื่อนไหวเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกมาอีกหรือไม่

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ