ไม่จริง! สวมหน้ากากอนามัย-N95 ใส่นานๆทำเลือดเป็นกรด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แพทย์-นักวิทย์ฯ  ให้ข้อมูลหลังโซเชียลฯแชร์การสวมหน้ากากอนามัย-N95 ทำเลือดเป็นกรด แท้จริงสวมนานมากอาจมีต่อการรับออกซิเจน แต่ไม่ถึงขั้นเลือดเป็นกรดจนเสียชีวิต

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมออนไลน์กรณีการแชร์ข้อมูลว่า หากสวมหน้ากากอนามัยนานๆ จะส่งผลให้เลือดเป็นกรด โดยจะมีอาการหน้ามืด ตามัว อึดอัดหายใจไม่ออก ตัวร้อน สับสนมึนงงนั้น

อัปเดตข่าวโควิด-19 (COVID-19) ล่าสุด 9 เม.ย. 63

ก.คลัง สั่งตรวจสอบ สาวโพสต์เงินเยียวยา 5,000 แค่เศษเงินหลังตู้เย็น

ล่าสุดวันที่ 9 เม.ย.2563 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ไม่ได้ทำให้เลือดเป็นกรด แต่อาจมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งค้าง เพราะเวลาเราใส่หน้ากากนานๆ ลมหายใจส่วนหนึ่งจะถูกกักไว้ ซึ่งก็เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นที่มาว่า หากอยู่คนเดียวก็ไม่ต้องใส่ แต่หากไปในที่ชุมชนไม่ต้องใส่ ดังนั้น เลือดเป็นกรด ไม่จริง แต่เพลียบ้างอาจมี

ด้าน  รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ว่า

 

"การใส่หน้ากากอนามัยนานๆ ไม่น่าจะทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด สืบเนื่องจากมีการส่งต่อข้อความกัน ทำนองว่า "ใส่หน้ากากนานๆ ระวังเกิดอาการภาวะเลือดเป็นกรด เนื่องจากได้รับคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปปะปน ทำให้ได้รับออกซิเจนน้อยเกินไป ใส่เป็นประจำ โดยไม่พัก อาจทำให้เสียชีวิตได้"  

 

ข้อเท็จจริง คือ  เรื่องนี้ มีทั้งส่วนจริงและส่วนไม่จริงปนกันครับ คือการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ ! แต่ไม่น่าจะใช่เรื่อง "ภาวะเลือดเป็นกรด"  เนื่องจากเลือดเป็นกรด (Acidosis) คือ ภาวะความผิดปกติของเลือดในร่างกาย ที่มีค่าพีเอช (pH) ต่ำกว่าปรกติ ที่ควรอยู่ในช่วง 7.35-7.45 ซึ่งถ้าภาวะกรดนี้เกิดจากระบบหายใจ ก็จะเกิดขึ้นเมื่อปอดไม่สามารถขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกทางการหายใจได้เพียงพอ จึงเกิดการสะสมของก๊าซภายในร่างกายเป็นจำนวนมาก จนทำให้เลือดมีความเป็นกรดมากกว่าปกติ

ภาวะเลือดเป็นกรดจากระบบหายใจ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง , การบาดเจ็บบริเวณหน้าอก , ภาวะหรือโรคอ้วนซึ่งอาจทำให้หายใจลำบาก , การใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทอย่างไม่เหมาะสมทำให้การหายใจลดลง , การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินปริมาณที่พอดี , ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท , โครงสร้างของหน้าอกผิดรูปร่าง เช่น หลังค่อม , กล้ามเนื้อหน้าอกที่เกี่ยวข้องกับการหายใจไม่แข็งแรง

จะเห็นได้ว่า การใส่หน้ากากอนามัยนั้น โดยรวมแล้ว ไม่ได้เกิดผลเสียจากการขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย แต่อาจเกิดอาการ "ขาดออกซิเจน" มากกว่า

ในกรณีของ “หน้ากาก  N95” ถูกออกแบบมาให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในห้องปฏิบัติการเชื้อโรค โดยจะแนบสนิทกับใบหน้า ไม่มีลมรั่วเข้าด้านข้างเลย และจะต้องออกแรงหายใจเข้ามากขึ้น ทำให้เมื่อใส่เป็นเวลานานๆ อาจทำให้ผู้สวมใส่ขาดออกซิเจน จนถึงขั้นหมดสติได้ .... จึงไม่ควรใส่ต่อเนื่องนานเกิน 1 ชั่วโมง  

ส่วน “หน้ากากอนามัยธรรมดา”  ทั้งแบบหน้ากากทางการแพทย์และหน้ากากผ้า จะมีช่องให้ลมเข้าออกทางด้านข้างของใบหน้าได้ ผู้สามใส่จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาออกซิเจน เหมือนหน้ากากแบบ n95

แต่กระนั้น ถ้าใส่เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ก็อาจจะเกิดกลิ่นอับและคราบเหงื่อไคลขึ้นได้ โดยเฉพาะตามรอยขอบหน้ากากหรือสายคล้องหู และอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือคันขึ้นได้  ยิ่งถ้าเกิดมีการไอจามในขณะสวมใส่ ก็จะมีการสะสมเชื้อเพิ่มขึ้นในหน้ากาก จึงควรเปลี่ยนทิ้งเมื่อใช้ติดต่อกันนานหลายชั่วโมงแล้วเริ่มเก่าแล้ว (หรือนำไปซัก ในกรณีของหน้ากากผ้า)

สรุปว่า หน้ากาก n95 ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเกิน 1 ชั่วโมงจริง ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาการขาดออกซิเจน ... ส่วนหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา สามารถใช้ต่อเนื่องได้หลายชั่วโมง เพียงแต่ต้องรักษาความสะอาดและใช้ให้เหมาะสม

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ