เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังมีความจำเป็นมากที่จะต้องคงความเข้มข้นของมาตรการต่างๆ ไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
สปสช.แจงหลักเกณฑ์จ่ายค่ารักษาพยาบาล “โควิด-19” รพ.รัฐ-เอกชน
ศบค. แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 28 ราย เสียชีวิต 2 ราย
นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า กรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อมี 102 ราย ที่เพิ่มขึ้นเพราะมีการปรับนิยามเพื่อให้ตรวจจับบุคลากร ที่ติดเชื้อได้เร็วขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบกับทั้งบุคลากร และประชาชนเอง ทั้งนี้ ในจำนวนบุคลากรที่ติดเชื้อฯ พบว่าติดจากการดูแลรักษาผู้ป่วย 65 % ติดเชื้อจากชุมชนประมาณ 20 % ที่เหลือไม่สามารถระบุว่าติดเชื้อจากที่ไหน แยกเป็นพยาบาล 40% แพทย์ 10 % ผู้ช่วยพยาบาล/ผู้ช่วยแพทย์ 10 % ที่เหลือเป็นตำแหน่งหน้าที่อื่นๆ สิ่งสำคัญอยากให้ประชาชนที่มารักษาแจ้งประวัติการป่วยอย่างชัดเจน อย่างคนมาตามนัดก็ขอให้แจ้งอาการด้วย แม้จะแค่คล้ายหวัดไม่ว่ะจะเบาแค่ไหนก็ตาม
“สำหรับช่วงนี้ที่มีฝนตกหลายพื้นที่นั้น ทั้งความชื้น และอากาศที่เย็นขึ้นทำให้เชื้อจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น สิ่งที่ประชาชนต้องทำยังเหมือนเดิม คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่คนเยอะๆ แต่ที่แนะนำเพิ่มเนื่องจากประชาชนต้องใช้หน้ากากชนิดผ้า เพราะฉะนั้นมันจะมีความชุ่ม จึงขอให้สำรองหน้ากากผ้าไว้วันละหลายๆ ชิ้น ถ้าโดนฝน ละอองฝนแล้วหน้ากากชื้นขอให้เปลี่ยนใหม่ อย่าใช้หน้ากากผ้าทั้งๆ ที่มีความชื้น” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
เมื่อถามว่าตอนนี้ตัวเลขผู้ป่วยลงมาต่อเนื่อง เกือบเท่าสถานการณ์ก่อนเราปิดพื้นที่ เพราะฉะนั้นจะมีการผ่อนคลายให้พื้นที่ไหนพิเศษหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยดีขึ้นค่อนข้างมาก แต่ยังต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ส่วนเรื่องการผ่อนคลายมาตรการเข้มในบางพื้นที่นั้น ตรงนี้เริ่มๆ จะผ่อนคลายไปบ้างแล้ว ดูเป็นบางพื้นที่ยังต้องปิดเด็ดขาด คือสถานที่ที่เอาคนไปรวมกลุ่มกันมาก เช่น สนามมวย สถานบันเทิง ส่วนพวกร้านค้า ร้านอาหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นพิจารณา เปิดได้ แต่ต้องจัดการใหม่ เช่น การจัดโต๊ะต้องห่างกัน รวมถึงธนาคาร ซึ่งมีความสำคัญในขณะนี้อาจจะต้องพิจารณาจัดเว้นระยะห่างของตู้เอทีเอ็มเพิ่มเติม จากที่เคยวางติดกัน ก็ต้องเพิ่มความห่าง