งานวิจัย เผย คิดลบซ้ำซากเสี่ยงสมองเสื่อมเพิ่ม
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
คุณเป็นคนประเภทมองโลกในแง่ร้าย น้ำไม่เต็มแก้วหรือเปล่า หากเป็นอย่างนั้น แนะนำให้เปลี่ยนมาคิดบวกมากขึ้น ถ้าไม่อยากเสี่ยงสมองเสื่อมเพิ่ม

งานวิจัยชิ้นใหม่ โดยจิตแพทย์และนักวิจัยจากคณะจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน พบว่าการคิดลบซ้ำไปซ้ำมาในช่วงบั้นปลายชีวิตมีความสัมพันธ์กับการรับรู้ของสมองที่ถดถอย และการสะสมเพิ่มขึ้นของโปรตีนสองชนิดที่มีส่วนทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์
9 ปัจจัยเสี่ยงสู่ภาวะสมองเสื่อม
นักวิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมคิดลบ เช่น การครุ่นคิดถึงอดีตและกังวลถึงอนาคต ในกลุ่มตัวอย่างกว่า 350 คน ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป เป็นเวลา 2 ปี และทำ PET สแกน กลุ่มตัวอย่าง 1 ใน 3 เพื่อตรวจวัดปริมาณโปรตีนอะมีลอยด์ เบต้า (beta amyloid) และโปรตีนเทา (tau) ที่เป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ โดยพบว่า ผู้ที่ใช้เวลาคิดลบมากกว่า มีการสะสมของโปรตีนอะมีลอยด์ เบต้า และโปรตีนเทามากกว่า ความจำแย่กว่า และมีการรับรู้ถดถอยมากกว่า เทียบกับคนที่ไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย
นอกจากนี้ งานวิจัยยังตรวจวัดระดับความกังวลและภาวะซึมเศร้า และพบว่าผู้ที่มีความกังวลและซึมเศร้ามีการถดถอยในการรับรู้มากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่เคยมีมาก่อน
อย่างไรก็ตาม การสะสมของโปรตีนอะมีลอยด์ เบต้า และโปรตีนเทา ไม่ได้เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนที่มีความกังวลและซึมเศร้าอยู่แล้ว ทำให้นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การคิดลบซ้ำๆ อาจเป็นเหตุผลหลักว่าทำไม ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลถึงนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ได้
พญ. นาตาลี มาร์แชนต์ หัวหน้าทีมวิจัย บอกว่า เมื่อพิจารณาประกอบกับงานวิจัยอื่นๆ ซึ่งเชื่อมโยงภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลกับความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม ทำให้สรุปได้ว่าการคิดลบเรื้อรังเป็นระยะเวลานานๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้
วิจัยเผยอยู่ใกล้ย่านรถติดเสี่ยงสมองเสื่อม
ผู้หญิงเสี่ยง “อัลไซเมอร์” มากกว่าผู้ชาย
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้