องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ห่วงรัฐแพ้คดีเหมืองทองอัครา

โดย PPTV Online

เผยแพร่

จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ออกมาเปิดเผยถึงคดีเหมืองทองอัครา ว่าพบหลักฐานการติดสินบนเจ้าพนักงาน เพื่อทำการสำรวจเหมืองของกลุ่มบริษัท คิงส์เกตฯ โดยพบข้อมูลจากอีเมลว่ามีเส้นทางการเงินเข้ามาจริง แต่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เปิดเผยว่ายังน่าเป็นห่วงว่าหลักฐานจะเพียงพอเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ได้หรือไม่ หากไม่เพียงพอก็อาจเป็นเหตุให้ไทยเสียค่าโง่ 2 หมื่นกว่าล้านได้

ป.ป.ช.พบเส้นทางการเงิน"สินบน"คดีเหมืองอัครา

“ถาวร” แฉทุจริต "การบินไทย" วัดใจ ป.ป.ช.

หลังจากที่  น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่นายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกกล่าวหาว่าเรียกรับ หรือ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกตฯ ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ จ.สระบุรี จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก 

ล่าสุดพบว่ามีข้อมูลจากอีเมลที่เชื่อมโยงเส้นทางการเงินเข้ามาจริง มีการพักเงินที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการ โดย ป.ป.ช.กำลังเร่งสืบหาเส้นทางการเงินดังกล่าวกับบัญชีอีเมลปลายทาง เพื่อดำเนินคดีต่อบุคคลที่มีชื่อปรากฏในอีเมลฉบับนี้

ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แสดงความคิดเห็นกับเรื่องนี้ว่า หากเป็นไปตามข้อมูลของที่ ป.ป.ช. และมีหลักฐานพิสูจน์ได้ชัดเจน ก็มีโอกาสที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนี้ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. เคยมีการชี้มูลความผิดและดำเนินคดีกับข้าราชการระดับสูงไปแล้วบางส่วน และหากดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐของไทยได้ ก็จะสามารถดำเนินคดีกับบริษัทต่างชาติในฐานะที่ทำการติดสินบนเจ้าพนักงานได้ด้วย แต่ต้องขึ้นอยู่กับหลักฐานที่มีว่าจะมีน้ำหนักมากเพียงใด ซึ่งเป็นที่น่ากังวลเพราะส่วนใหญ่แล้วคดีที่มีการติดสินบนเจ้าพนักงานมักหาหลักฐานมัดตัวไม่ได้

ส่วนในเรื่องของการต่อสู้คดีที่บริษัท คิงส์เกต ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 22,672 ล้านบาท จากการสั่งปิดเหมือง ซึ่งเป็นการละเมิดตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน มองว่ามีโอกาสสูงที่บริษัทเอกชนจะชนะการฟ้องร้อง เพราะเป็นการสั่งปิดโดยให้เหตุผลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การทำสัญญาโดยมิชอบตั้งแต่ต้น รวมทั้งใช้มาตรา 44 ในการสั่งปิดโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้บริษัทต่อสู้หรือชี้แจง

 

Bottom-Interactive Bottom-Interactive

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ