หมอเรวัต ค้านงบ 111 ล้านสู้คดี “เหมืองทองอัครา” ชี้ “บิ๊กตู่”ไม่ใช่จนท.รัฐ ต้องรับผิดชอบเอง
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ห่วงรัฐแพ้คดีเหมืองทองอัครา
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2563 แม้การพิจารณางบประมาณกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในวาระของเรื่อง งบประมาณการระงับข้อพิพาทไทย กับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติออสเตรเลีย จำนวน 111 ล้านบาท มีมติเห็นด้วย 38 เสียง ไม่เห็นด้วย 21 เสียง แต่ นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะ กมธ.งบประมาณ ฯ มองว่า ในวาระที่สอง ส.ส.ควรไต่ตรองก่อนลงมตินี้ เพราะโดยส่วนตัวยืนยันว่า ควรตัดงบประมาณส่วนนี้ทิ้งทั้งหมด เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ควรเป็นผู้รับผิดชอบเอง เพราะเป็นคนสั่งปิดเหมือง จนทำให้ไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และ ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่ควรใช้งบประมาณแผ่นดิน
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงกระแสเรียกร้องให้รับผิดชอบใช้ ม.44 ปิดเหมืองทองอัครา ว่า เป็นคนละเรื่อง และขอให้ย้อนดูต้นเหตุของปัญหา ว่าเกิดจากความเดือดร้อนของประชาชนรอบเหมือง ที่ไม่ได้รับการแก้ไขใช่หรือไม่ และคดีดังกล่าวก็อยู่ระหว่างการดำเนินการในอนุญาโตตุลาการ พร้อมขออย่างนำอดีตสมัย คสช. หรือข้อกล่าวหาไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐมาพัน เพราะตนเองก็ทำหน้าที่ในนายกรัฐมนตรี ที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาทุกเรื่องเช่นกัน
สำหรับเหมืองอัครา ได้รับสัมปทานตั้งแต่ปี 2543 ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ พิจิตร , พิษณุโลก , และ เพชรบูรณ์ หลังเปิดเหมืองทองคำ 7 ปี คือปี 2550 มีชาวบ้านไปร้องเรียนรัฐบาลว่า ได้รับผลกระทบ น้ำในพื้นที่ไม่สามารถใช้ได้ เพราะ ปนเปื้อนโลหะหนัก มีชาวบ้านล้มป่วยกันจำนวนมาก ช่วงเวลานั้น ภาครัฐลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ แต่เป็นจังหวะเดียวกับที่ บริษัท อัคราไมนิ่ง ได้รับสัมปทานเหมืองทองคำชาตรีเหนือ อีกเกือบ 2,500 ไร่
ปี 2557 มีการรายงานผลตรวจเลือดของชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองทองคำ ว่า พบสารแมงกานีสและไซยาไนต์อยู่ในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
ปี 2558 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ออกคำสั่งให้ บริษัท อัคราไมนิ่ง หยุดทำกิจการ 30 วัน เพราะ สุ่มตรวจร่างกายชาวบ้านแล้วพบว่า มีโลหะหนักภายในร่างกาย จากนั้นมีการจ้าง บริษัทเอกชนอีกแห่งไปตรวจสอบที่เหมืองชาตรี แต่ไม่พบไซยาไนต์รั่วไหล
จนกระทั้ง 14 ธันวาคม 2559 คสช. ออกคำสั่ง ที่ 72/2559 ให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยเป็นการใช้มาตรา 44 ในการระงับข้อขัดแย้ง ผู้เซ็นคำสั่ง คือ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.
ช่วงปลายปี 2560 บริษัท คิงส์เกต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัคราไมนิ่ง เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย โดยเรียกร้องให้ชดเชยค่าเสียหาย 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 22,672 ล้านบาท เนื่องจากการสั่งปิดเหมืองที่เป็นการละเมิดตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
ช่วง มีนาคม 2562 มีรายงานข่าว ว่า ทางรัฐบาลไทยยอมจ่ายเพื่อจบคดีนี้ แต่คดียังมีการยืดเยื้อมาอย่างต่อเนื่อง
และล่าสุด วันที่ 27 สิงหาคม 2563 มีรายงานว่า เอกสารงบประมาณปี 2564 บรรจุเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับบริษัทคิงส์เกท เป็นจำนวนเงินกว่า 111 ล้านบาท