สปส.ยันเพิ่มสิทธิประกันสังคม-ไม่เก็บเงินสมทบเพิ่ม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สปส.ยันเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม-ไม่เก็บเงินสมทบเพิ่ม พร้อมเพิ่มสิทธิส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เตือนนายจ้างชำระเงินสมทบหลังวันที่ 15 มีโทษปรับ


เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 58 นายโกวิท สัจจวิเศษ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยกรณีพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ต.ค. 58 เป็นต้นไปว่า กฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 17 ฉบับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศใช้ทั้งหมดแล้ว อย่างไรก็ดีสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ที่มีผลใช้บังคับในวันที่ 20 ต.ค. 58 โดยไม่ต้องรอออกกฎหมายลำดับรอง ได้แก่


1. ผู้ประกันมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง (เหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาท + เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน)


2. ผู้ประกันมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรคราวละไม่เกิน 3 คน (เหมาจ่ายรายเดือน เดือนละ 400 บาทต่อคน)


3. ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้โดยให้มีสิทธิรับร่วมกับทายาท


4. เพิ่มเงินสงเคราะห์กรณีตาย


5. ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเรื้อรังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย


6. การคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้คำนวณโดยนำค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบสูงสุด 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิมารวมกันเป็นฐานในการคำนวณแล้วหารด้วย 90 ในกรณีที่ผู้ประกันตนมีค่าจ้างไม่ครบ 3 เดือนในคำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ยเป็นรายวัน


7. กองทุนประกันสังคมขยายระยะเวลาการขอรับประโยชน์ทดแทนจาก 1 ปี เป็น 2 ปี และ


8. ขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการที่มีอยู่ประมาณ 300,000 คน และลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศและไปประจำทำงานต่างประเทศ


9. ผู้ทุพพลภาพอยู่ก่อนวันที่ 31 มี.ค. 58 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไปตลอดชีวิต


"ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าสำนักงานประกันสังคมเตรียมที่จะขยายฐานการเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนและนายจ้าง หลังวันที่ 20 ตุลาคม 2558 นั้น ไม่เป็นความจริง สำนักงานประกันสังคมเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมและห่วงใยผู้ประกันตน ลูกจ้าง รวมทั้งนายจ้าง จึงยังคงยืนยันที่จะเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนและนายจ้างร้อยละ 5 ของฐานเงินเดือนที่กำหนดไว้คือ 1,650-15,000 บาทอยู่เหมือนเดิม" นายโกวิท กล่าว


รักษาราชการแทนเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า เรื่องการขยายฐานเงินเดือนการเก็บเงินสมทบกับการเก็บเงินสมทบเป็นคนละส่วนกัน ยืนยันว่าไม่มีการเก็บเงินเพิ่มแน่นอน อย่างไรก็ตามความจริงเรื่องการขยายฐานเงินเดือนเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนด้วยซ้ำ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเงินเดือนสูง เนื่องจากหากในอนาคตมีการปรับขยายฐานเพิ่มเป็นผู้มีรายได้จาก 1,650-20,000 บาท จะช่วยให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่ม เช่น ถ้าเพิ่มจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 6 เงินสะสมก็เพิ่มขึ้นจาก 1,000 บาทเป็น 1,200 บาท จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เพิ่มขึ้นจาก 7,500 บาทเป็น 10,000 บาท เงินบำนาญชราภาพก็ได้เพิ่มมากขึ้นด้วย


ขณะที่ พ.ต.ญ.รมยง สุรกิจบรรหาร รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงาน ประกันสังคม กล่าวว่า นอกจากการเพิ่มสิทธิประโยชน์และขยายความคุ้มครองข้างต้นแล้ว กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ยังได้เพิ่มเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่ที่เป็นของขวัญแก่ผู้ประกันตนและลูกจ้างทั่วประเทศด้วย เบื้องต้นในปีงบประมาณ 59 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมจะออกประกาศในเรื่องดังกล่าว โดย สปส. จะให้ประกันสังคมจังหวัดหรือเขตเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการของ สปสช. เพื่อประสานงานอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันในแต่ละจังหวัดให้สามารถไปใช้สิทธิในโรงพยาบาลของรัฐตามหลักเกณฑ์ของ สปสช. เช่น การฝากครรภ์ การรับวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ รวมทั้งการตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง เป็นต้น


ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ยังได้เปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและโทษปรับกรณีนายจ้างชำระเงินสมทบล่าช้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 58 โดยเงินสมทบงวดเดือนก.ย. นายจ้างต้องชำระเงินสมทบอย่างช้าสุดไม่เกินวันที่ 19 ต.ค. สำหรับเงินสมทบงวดเดือนต.ค. นายจ้างต้องชำระเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เช่น เงินสมทบงวดเดือนตุลาคมต้องจ่ายเงินสมทบภายใน 15 พ.ย. 58


หากชำระเงินสมทบหลังจากวันที่ 15 พ.ย. 58 นายจ้างจะมีโทษปรับเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ค้างจ่าย โดยคำนวนค่าปรับเป็นรายวัน แต่เงินที่ปรับต้องไม่เกินจำนวนเงินทั้งหมดที่นายจ้างค้างจ่าย จากเดิมที่คิดค่าปรับร้อยละ 2 ต่อเดือน คำนวณเป็นรายเดือน แม้จะชำระล่าช้าไปเพียงวันเดียวก็ถูกคิดค่าปรับเป็นเดือน และหากนายจ้างไม่นำส่งแบบแสดงรายการนำส่งเงินสมทบ (สปส. 1-10) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังกำหนดโทษกรณีที่ "นายจ้าง" ไม่แจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้ลูกจ้าง การแจ้งขึ้นทะเบียนเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


สำนักงานประกันสังคม ยังได้เพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวก นายจ้างสามารถยื่นแบบส่งเงินสมทบ (สปส. 1-10) ชำระเงินสมทบได้ที่เคาน์เตอร์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม


ทั้งนี้ นายจ้างทุกท่านสามารถดูรายละเอียดแนวปฏิบัติการนำส่งเงินสมทบได้ที่ http://www.sso.go.th/wpr/uploads/uploadImages/file... หรือมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมโทร.สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ