มธ.จัดเสวนา สะท้อนมุมมอง "สื่อไทย" ในสายตาประชาคมอาเซียน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา ในโอกาสครบรอบ 61 ปีคณะวารสารฯนำเสนอผลวิจัยการสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน สะท้อนทิศทางสื่อไทยรับมือก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน



มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน จัดเสวนาวิชาการ "Media and Communication: Learning from Other" เนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนาปีที่ 61 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน พร้อมเผยข้อมูลงานวิจัยด้านสื่อมวลชน ภายใต้หัวข้อ "ASEAN Media Move" นำเสนอผลวิจัยการสื่อสารในบริบทของอาเซียน ที่อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


โดยมีการศึกษาสื่อในประชาคมอาเซียน ใน 6 หัวข้อคือ พัฒนาการและแนวทางในอนาคตของอุตสาหรรมโฆษณาในประเทศไทย โดย รศ.แอนนา จุมพลเสถียร , ไทยในสายตาของสื่อลาว ศึกษากรณีศึกษาหนังสือพิมพ์ "ปะซาซน" โดย ผศ.รุจน์ โกมลบุตร , การนำเสอเนื้อหาที่เกี่ยวกับประเทศไทยที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษกรณีศึกษาหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ โดยอ.เกศราพร ทองพุ่มพฤกษา , การนำเสนอเนื้อหาด้านวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียนในรายการสารคดีของไทย โดย อ.พรชัย ฉันต์วิเศษลักษณ์ , นาฏศิลป์: สื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในเวทีประชาคมอาเซียน โดย อ.ญาณิศา บุญประสิทธิ์ และการวิเคราะห์อัตลักษณ์ความเป็นชาติและความเป็นภูมิภาคของกลุ่มประเทศอาเซียน ศึกษากรณีเฟซบุ๊กแฟนเพจ ASEAN Community โดย อ.มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช


รศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน บอกว่า เราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราจะต้องรู้ความเคลื่อนไหวเพื่อนบ้าน หลักสูตร และแนวโน้มในการพัฒนาคณะด้านสื่อสารมวลชนที่มีมาตรฐานให้ไปสู่สากล เลยเป็นที่มาของ เสวนาวิชาการ "Media and Communication: Learning from Other" คือต้องเรียนรู้จากคนอื่นด้วย เพื่อเป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้สังคมได้รับรู้ถึงแง่ลึกของสื่อในอาเซียน ตลอดจนมุมมองของสื่อในประเทศต่างๆ ที่มีต่อประเทศไทย ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อโฆษณาและสื่อมวลชนอื่นๆ


"สิ่งที่เรารู้คือเราชอบเข้าใจจากตัวเราเอง เราชอบคิดเอาเองว่าเขาคิดแบบนั้น แต่งานวิจัยเป็นงานที่เป็นกลาง เป็นสิ่งที่ทำให้เราปรับวิธีการมองของตัวเอง ในขณะที่เขามาเรียนรู้เรามากมาย เราต้องไปเรียนรู้เขาบ้าง การเรียนรู้ไม่ใช่การแข่งขัน แต่เป็นการที่เราจะออกไปสู่ประชาคมอาเซียนแบบไม่มีปัญหา"คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กล่าว


รศ.พรทิพย์ กล่าวต่อว่า การวิจัยในแต่ละเรื่องเป็นความสนใจของอาจารย์แต่สาขาที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน และในครั้งนี้มีการวิจัยเกี่ยวกับ"โซเชียลมีเดีย" ด้วย ซึ่งอาจารย์ที่ทำเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ไม่ใช่เรามองโซเชียลมีเดีย แต่คนทั้งโลกสามารถมองผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ มองจุดอ่อนจุดแข่งของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร การศึกษาค้นหามันง่ายกว่าการไปหาหนังสือพิมพ์เสียอีก จึงเป็นที่สนใจของอาจารย์ ซึ่งเป็นเทรนด์ของอาจารย์รุ่นใหม่ๆ เพราะโซเชียลมีเดียเป็นบทบาทในการสร้างภาพลักษณ์ อธิบายตัวตนของแต่ละประเทศได้ เวลามีวิกฤตแต่ละประเทศเหมือนกันหรือไม่ ในเรื่องเดียวกันมุมมองเหมือนกันหรือไม่


ด้าน อ.มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดช อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน กลุ่มวิชาโฆษณา ผู้หยิบยกการวิจัยกรณีเฟซบุ๊กแฟนเพจ ASEAN Community บอกว่า การเปิดพื้นที่สาธารณะในสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กแฟนเพจเป็นการดึงคนในแต่ละประเทศให้เข้ามาเรียนรู้ รับข้อมูลความแตกต่างหลากหลายในเชื้อชาติ วัฒนธรรมเหล่านี้เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำความเข้าใจในบทบาทของความเหมือนและความต่าง เพื่อสร้างการยอมรับ และหาจุดยืนร่วมกัน พื้นที่สาธารณะนี้เป็นโอกาสให้ประชากรอาเซียนได้มองว่า เรามองตัวเองอย่างไร และ คนอื่นมองเราอย่างไร ซึ่งตัวอย่างเกณฑ์ในการวัดผลคือ 4 เหตุการณ์ คือ กีฬาซีเกมส์ 2014 เหตุการณ์เฉลิมฉลองวันมหาสงกรานต์ เหตุการณ์วาตภัยพายุไห่เยี่ยน และเหตุการณ์มาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินเอ็มเอช 370 ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการสนับสนุน การให้ความช่วยเหลือ การแสดงความคิดเห็นของคนในประเทศอาเซียน


ขณะที่ภายในงานมีการสะท้อนประเด็น "การศึกษาต่อสื่อสารมวลชนในไทย"โดย ศ.ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ได้ร่วมสะท้อนในมุมมองนี้ว่า แม้ว่าโลกเราจะเจริญขึ้นแต่การศึกษาวารสารศาสตร์นิเทศศาสตร์ในประเทศไทย ก็ไม่แตกต่างจาก 30 ปีที่แล้ว ยังคงย่ำอยู่กับที่ สิ่งที่ควรต้องทำคือนทำไมเราต้องเป็นผู้สื่อข่าวไปตลอด นี่คือวารสารศาสตร์ที่มองเด็กตัวเองว่าได้แค่นี้ แต่ที่ถูกคือต้องผลิตลูกศิษย์ตัวเองให้ไปสู่จุดสูงสุดขององค์กร เขาต้องปรับตัวต้องเรียนรู้เรื่องการบริหาร เพื่อให้อยู่เป็น ไม่ใช่แค่สอนการเป็นผู้สื่อข่าว


"ทุกวันนี้นักศึกษาที่เรียนด้านนี้ก็ต้องปรับตัวเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า หรือสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียต่างๆ ต้องทันตรงนี้ให้ได้ ถ้าเป็นสื่ออาชีพก็ต้องหลอมรวมสื่อต้องเป็นอย่างนี้ทำได้ทุกอย่างในตัว แล้วส่งข่าวต่อให้องค์กร แต่วันหนึ่งสื่อเหล่านี้ก็ต้องพัฒนาขึ้นไปเพื่อบริหาร ไม่ใช่อยู่จุดนี้ตลอดชีวิต และต้องมีเด็กมาทดแทน หมุนเวียนกันไป สิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น"


ศ.ดร.สุรพงษ์ มองสื่อไทยในปัจจุบันว่า ปัญหาที่เจอตอนนี้คือ การตั้งคำถามที่สื่อไทยไม่ทำการบ้าน ในการจะไปซักถามแหล่งข่าว ชอบถามสิ่งที่นึกได้ทันที ควรจะรู้ว่าเจอเขาในประเด็นไหน ยิงคำถามให้ดี แต่คำถามนั้นควรจะไม่ไล่เขา ต้องถามเป็น และต้องศึกษาค้นคว้าก่อนถามให้มากกว่านี้



นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ "Sharing Academic Experiences" เสวนาแชร์มุมมองจาก 3 มุมโลก แลกเปลี่ยนการเรียนการสอนจากอาจารย์คนไทยที่ไปสอนในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ คือ รศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ จากมหาวิทยาลัยนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น รศ.ดร.สุวิชิต ชัยดรุณ มหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ ประเทศอังกฤษ และ ดร.วรพร จันทพันธ์ จากมหาวิทยาลัยนานาชาติสแตมฟอร์ด ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอนในต่างประเทศด้วย









TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ