ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในช่วงเทศกาลวันสำคัญที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน อย่าเช่นเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันรณรงค์ ลดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตอย่างจริงจัง ทำให้ความสูญเสียลดลงตามลำดับ จากค่าเฉลี่ยอัตราผู้เสียชีวิตประมาณ 700 กว่าราย ในช่วง 7 วันอันตรายส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ลดลงมาอยู่ที่ประมาณปีละ 300 กว่าราย ในช่วงปี 2554 – 2558 โดยภาพรวมพบว่า เกิดอุบัติเหตุ 15,937 ครั้ง บาดเจ็บ 16,916 ราย เสียชีวิต 1,768 ราย
แม้ตัวเลขความสูญเสียในช่วง 5 ปีหลังจะลดลงตามลำดับ แต่การทรงตัวอยู่ในระดับเดิม นำมาซึ่งความกังวลที่ว่า หากรัฐบาลไม่เพิ่มมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย อาจแซงหน้าขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกในไม่ช้า
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า ปกติในแต่ละวันประเทศไทยมีอัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ประมาณ 30 กว่าราย แต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว สาเหตุสำคัญเกิดจากการเมาแล้วขับ ความท้าทายของประเทศไทยในการลดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จึงอยู่ที่การควบคุมไม่ให้คนดื่มแอลกอฮอล์ออกมาขับรถ ข้อเสนอในปีนี้ของเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุ จึงไปโฟกัสที่การยกระดับการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เข้มข้นมากขึ้น จากเดิมที่ผู้ที่มีค่าแฮลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัม เมื่อถูกตำรวจจับจะต้องเสียค่าปรับ จากนั้นรอขึ้นศาล ซึ่งส่วนใหญ่จะพิจารณาเป็นโทษรอลงอาญา แต่ในปีนี้เสนอว่าหากถูกจับแล้วให้ลงโทษกักขังเลย เพื่อให้เกิดความหลาบจำ
"ข้อดีของมาตรการกักขังคือไม่ว่าจะรวยหรือจนทุกคนต้องรับโทษเหมือนกัน ที่สำคัญคือการถูกกักขังเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้กระทำผิด ได้สำนึกและปรับปรุงพฤติกรรมโดยไม่มีผลกระทบ เหมือนกับการโดนโทษจำคุกเพราะไม่ต้องโดนโกนหัว ไม่ถูกพิมพ์ลายนิ้วมือ หรือแม้กระทั่งบันทึกประวัติ แต่ต้องไปอยู่ในสถานที่กักขังของกรมราชทัณฑ์ 3 – 7 วันเท่านั้น"
การเสนอมาตรการในลักษณะบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่าการใช้ยาแรง แน่นอนว่าต้องมีกระแสตอบรับทั้งในทิศทางที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในประเด็นนี้ นพ.ธนะพงศ์ ย้ำว่า ข้อเสนอนี้ไม่ใช่ข้อเสนอที่ยกขึ้นมาพูดลอยๆ แต่ได้เคยถูกนำไปปฏิบัติแล้วในพื้นที่ จ.นนทบุรี เมื่อปี 2550 โดยผู้พิพากษาศาลแขวงนนทบุรี พิจารณาโทษเมาแล้วขับสำหรับรถส่วนบุคคลโดนกักขัง 7 วัน แต่หากเป็นรถโดยสารสาธารณะโดนขัง 1 เดือน ในช่วงเดือน เม.ย. – ธ.ค. ส่งผลให้ในพื้นที่นนทบุรีไม่มีผู้เสียชีวิตจากเมาแล้วขับแม้แต่รายเดียว แนวทางปฏิบัตินี้จึงได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถช่วยลดความสูญเสียลงได้จริง ดังนั้น การเสนอให้ใช้ยาแรงที่เรามีในตู้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ถูกเปิดออกมาใช้ จึงถือเป็นการช่วยสกัดผลเสียต่อชีวิตของคนไทย ที่จะเกิดขึ้นตามมาจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ
เช่นเดียวกับ นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ที่บอกว่า มาตรการทางกฎหมายถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดอุบัติเหตุทางถนน แต่ที่ผ่านมาเมื่อผู้กระทำผิดเมาแล้วขับถูกส่งตัวไปยังศาล ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เพื่อยกระดับการป้องกันอุบัติเหตุให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตกเป็นเหยื่อคนเมาแล้วขับ ไม่เพียงทำให้ร่างกายบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันยังส่งผลต่อครอบครัวผู้ประสบเหตุด้วย โดยสถิติที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้พิการหรือเสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัว
"จริงๆ แล้วคนที่ดื่มแล้วขับไม่ใช่คนจำนวนมาก แต่กลับสร้างผลกระทบต่อประเทศชาติค่อนข้างมาก วันนี้ผมคิดว่าคนที่ดื่มแล้วขับจะต้องออกมาช่วยกันรณรงค์ด้วยซ้ำ เพราะการกระทำของพวกเขามีผลกระทบรุนแรง ดังนั้น ในทางปฏิบัติหากเราพูดว่ายึดผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก ทุกคนก็ต้องยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด สามารถช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับได้จริง"
ไม่ต่างกับ พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่ยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายตามข้อเสนอข้างต้น หากมีผลบังคับใช้ได้จริงจะสามารถลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตลงได้ โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นเมื่อจับผู้กระทำผิดแล้ว ต้องส่งต่อไปยังศาลตามกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งในส่วนนี้ไม่สามารถก้าวล่วงอำนาจศาลได้ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง ท้ายที่สุดประเทศไทยจะสามารถลดความสูญเสีย จากอุบัติเหตุทางถนนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
Content : สุริยัน ปัญญาไว
Producer/Editing: บุญญานันท์ คำโพธิ์ทอง
Graphic Design: สถิตย์พงษ์ คำลอย
PPTV Photo : ทวีชัย จันทะวงค์