​5 โรค เฝ้าระวังปี 59


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากการวิเคราะห์สถานการณ์โรคในระบบเฝ้าระวังต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของการเกิดโรค และนำมาพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพที่สำคัญในปี 2559 พบ 5 โรคที่ต้องจับตาและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่




โรคไข้เลือดออก ผลการวิเคราะห์คาดว่าปี 2559 จะมีผู้ป่วยประมาณ 166,000 ราย โดยจะพบผู้ป่วย 5,000-7,500 รายต่อเดือน และสูงขึ้นในฤดูฝนช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. อาจมากกว่า 25,000 รายต่อเดือน อำเภอที่เสี่ยงต่อการระบาดสูงมีทั้งสิ้น 228 อำเภอ ใน 56 จังหวัด กระจายอยู่ทุกภาค โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งชุมชน ซึ่งมีปัญหาสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและการสุขอนามัยส่วนบุคคล


อหิวาตกโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 30 พ.ย. 58 พบผู้ป่วย 166 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยพบผู้ป่วยใน 13 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลและจังหวัดชายแดน ส่วนในปี 2559 คาดว่าจะยังพบผู้ป่วยต่อเนื่อง แบ่งความเสี่ยงเป็น 3 กลุ่มจังหวัด คือ 1.จังหวัดที่พบการเกิดโรคต่อเนื่อง คือ สงขลา ตาก และระยอง 2.จังหวัดเสี่ยงสูง คือจังหวัดชายแดนไทย-ตอนกลาง และตอนล่างของพม่า จังหวัดชายฝั่งทะเลและจังหวัดใหญ่ที่เป็นจุดกระจายอาหารทะเล และ 3.จังหวัดอื่นๆ อาจเกิดโรคได้ หากประชาชนยังรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ


โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 8 ธ.ค. 58 พบผู้ป่วย 69,798 ราย เสียชีวิต 37 ราย ส่วนในปี 2559 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 72,000 ราย ซึ่งจะมีผู้ป่วย 5,000-8,000 รายต่อเดือนในช่วงฤดูหนาว และปลายฝนต้นหนาว มี 9 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการระบาด ได้แก่ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา จันทบุรี ระยอง ตราด และภูเก็ต


โรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 8 ธ.ค. 58 พบผู้ป่วย 37,330 ราย เสียชีวิต 3 ราย ส่วนในปี 2559 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 70,000 ราย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน อาจพบผู้ป่วยมากกว่า 10,000 รายต่อเดือน


โรคไข้กาฬหลังแอ่น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 8 ธ.ค. 58 พบผู้ป่วย 28 ราย เสียชีวิต 12 ราย ซึ่งเป็นปีที่มีผู้ป่วยมากสุดในรอบ 5 ปี แยกเป็น คนไทย 24 ราย พม่า 3 ราย และกัมพูชา 1 ราย ส่วนในปี 2559 จากการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรค มี 15 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สระแก้ว ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สตูล สงขลา กระบี่ ปัตตานี และยะลา


ส่วนการพยากรณ์โรคไม่ติดต่อและภัยสุขภาพ มี 4 ปัญหาเฝ้าระวัง ดังนี้


ภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ตั้งแต่ปี 2551-2558 พบผู้ป่วยหมดสติขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส รวม 13 เหตุการณ์ เสียชีวิต 6 ราย


เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ พบว่าตั้งแต่ปี 2552-2557 มีแนวโน้มลดลงจาก 1,207 ราย เหลือ 812 ราย จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงคือจังหวัดที่มีคนจมน้ำเสียชีวิต 20 รายขึ้นไปต่อปี มีทั้งสิ้น 40 จังหวัด แม้ว่าการจมน้ำเสียชีวิตในเด็กจะมีแนวโน้มลดลง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2559 ยังคงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ


การเสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจในช่วงปัญหาหมอกควัน ปี 2556-2557 พบว่าอัตราตายด้วยโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ หอบหืด และปอดอุดกั้นเรื้อรัง 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน มีแนวโน้มสูงในเดือน ม.ค.-มี.ค. ซึ่งในภาคเหนืออากาศจะหนาวเย็นและมีหมอกควันหนาขึ้น ทำให้โรคดังกล่าวมีอาการกำเริบรุนแรงได้


การบาดเจ็บจากจราจร หลังปี 2553 เป็นต้นมา แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจะเริ่มคงที่ประมาณ 321–366 รายในช่วงเทศกาลปีใหม่ และประมาณ 271–364 รายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้อง วางมาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยในปี 2559 ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 268–372 ราย และเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 308–387 ราย




PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ