ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานคณะทำงานการจัดงานวันไตโลก กล่าวว่า เมื่อพูดถึงโรคไตหลาย ๆ คนอาจคิดว่าเป็นโรคของผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้โรคไตสามารถเกิดขึ้นในเด็กได้เช่นกัน ซึ่งถ้าหากไม่รีบทำการรักษาหรือป้องกันแต่เนิ่นๆ อาจนำไปสู่สภาวะไตวายระยะสุดท้าย จึงต้องทำการรณรงค์เรื่องโรคไตในเด็กให้ประชาชนตระหนักถึงการบริโภครสเค็ม หลังพบผู้ป่วยเด็กเป็นโรคไตเพิ่มขึ้นทุกปีและเพิ่มสูงมากขึ้นจนน่ากลัว ทั้งนี้ การรณรงค์ลดการบริโภคเค็มลงทีละน้อย จนกว่าร่างกายจะคุ้นชินกับรสชาติอาหารมีความสำคัญมาก เพราะการลดบริโภคโซเดียมลงมาต่ำกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจอย่างน้อย 10%
ผศ.นพ.พรชัย กิ่งวัฒนกุล ประธานชมรมโรคไตในเด็ก กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคไตในเด็กจะมีความแตกต่างกัน เช่น สำหรับผู้ป่วยบางคนที่มีอาการไข้สูง บวม จะมีปัสสาวะออกน้อย และมีโปรตีนรั่วออกไปในปัสสาวะ ซึ่งจะเรียกว่า “โรคไตเนโฟรติก” และบางคนปัสสาวะจะมีเม็ดเลือดแดงมาก เรียกว่า “โรคไตเนไฟรติส ซึ่งจะอยูในกลุ่มคนโรคความดันโลหิตสูง ลักษณะอาการในภาพรวมจะปัสสาวะน้อย ร่างกายมีอาการบวมมาก ความดันเลือดสูง ตรวจพบเกลือแร่ผิดปกติ ไตวายเฉียบพลันและเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ไตจะต้องเข้ารับการรักษา โดยใช้ยาปฏิชีวนะหรือการใช้ยากดภูมิต้านทาน เพื่อรักษาอาการ ลดบวม และลดความดันเลือด ส่วนอาการทั่วไปแพทย์จะให้ผู้ป่วยคุมอาหาร น้ำ เกลือแร่ต่างๆ เพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุล
ประธานชมรมโรคไตในเด็ก อธิบายว่า สำหรับการรักษาทดแทนไตในเด็กนั้น จะต้องทำการฟอกเลือดด้วยการล้างไตทางช่องท้อง ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ใช้เวชภัณฑ์เฉพาะที่เหมาะกับเด็กและการปลูกถ่ายไต ขณะที่การป้องกันโรคไตในเด็กจะต้องดูเรื่องโภชนาการ ลดน้ำลดเกลือและต้องดื่มน้ำให้พอเพียง สำหรับในกลุ่มไตวายเรื้อรัง ต้องปรับลดโปรตีน โปแตสเซียม และฟอสเฟต จากนมวัว ผัก ผลไม้ มันฝรั่ง และน้ำอัดลม ในส่วนของการอักเสบจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จะต้องเริ่มจากสุขอนามัยของการปัสสาวะ ลดความอ้วน รักษาความสะอาด และวินัยในการดูแลตนเอง เช่น การทานยาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น