เจ้าของอู่ปัดปลอมเอกสารรถหรู "สมเด็จช่วง"
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
เจ้าของอู่รถสองแห่งที่ถูกพาดพิงในคดีรถหรูของ “สมเด็จช่วง” เข้าแจ้งความและให้ข้อมูลกับดีเอสไอ ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลอมเอกสารและการนำเข้าชิ้นส่วนรถโดยหลีกเลี่ยงภาษี ขณะที่อธิบดีดีเอสไอเผยทราบตัวผู้ต้องสงสัยปลอมเอกสารแล้ว เตรียมเรียกมาสอบปากคำ พร้อมประสานขอรับรถของกลางภายในสัปดาห์หน้า

หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงผลการสอบสวนคดีรถหรูที่มีชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ และผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้ครอบครอง พบการนำเข้ารถหลบเลี่ยงภาษี
ล่าสุดมีความคืบหน้าคดีนี้ โดยเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา (19 ก.พ. 59) นางกาญจนา มากเหมือน เจ้าของอู่ เอ็น.พี.การาจ ซึ่งถูกปลอมแปลงเอกสารยื่นชำระภาษีสรรพสามิตเพื่อจดประกอบรถ เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ โดยอ้างว่าถูกปลอมเอกสารและลายเซ็นไปยื่นชำระภาษีรถคันนี้
ส่วนนายวิชาญ รัษฐปานะ เจ้าของอู่วิชาญที่รับประกอบรถเบนซ์ ก็เข้าพบดีเอสไอเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยยืนยันว่ารับว่าจ้างประกอบชิ้นส่วนรถเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการทำเอกสารปลอม หรือการนำเข้าชิ้นส่วนแต่อย่างใด
ทั้งนี้พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่าการเข้าร้องทุกข์ของนางกาญจนาทำให้เห็นชัดว่าคดีนี้มีขบวนการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งดีเอสไอรู้ตัวแล้วว่าเป็นใครและเตรียมเรียกมาสอบปากคำเร็วๆ นี้ ส่วนสมเด็จช่วงอยู่ระหว่างประสานขอเข้าพบเพื่อสอบปากคำยืนยันลายมือชื่อในเอกสารยื่นขอจดทะเบียนรถยนต์ว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อจริงหรือไม่
สำหรับรถยนต์ของกลางในคดีนี้ที่อยู่ในวัดปากน้ำพบว่า สมเด็จช่วงบอกกับคนใกล้ชิดว่าไม่ประสงค์จะรับรถยนต์ไว้อีกแล้วหากเป็นจริงดีเอสไอก็พร้อมรับรถไว้เป็นของกลาง เพื่อยุติคดีในความผิดเกี่ยวกับภาษีศุลกากรที่ชำระไว้ไม่ครบ โดยมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปรับรถหลังหลังวันที่ 22 ก.พ. 59 แต่ในส่วนของคดีอาญายังต้องสอบสวนต่อไป
ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ระบุว่ากำลังรอข้อมูลจากดีเอสไอเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเรียกเก็บอากรตามมาตรา 6 ของพระราชกำหนดพิกัดศุลกากรว่าหลีกเลี่ยงภาษี และยังจ่ายไม่ครบอยู่จำนวนเท่าไร โดยจะเรียกเก็บภาษีผู้สั่งซื้อและผู้นำเข้ารวม 3 รายในอัตราภาษีการนำเข้ารถทั้งคันซึ่งต้องเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 328
ขณะที่การแก้ปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ของรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าปัญหานี้ไม่เหมือนเรื่องอื่นเพราะเกี่ยวกันหลายหน่วยงาน แต่ทั้งหมดก็ต้องทำให้ยุติในระดับหนึ่งไม่ให้มีปัญหาค้างคาก่อนที่รัฐบาลต้องนำความกราบบังคมทูลฯ หากมีข้อโต้แย้งคัดค้านขึ้นมา รัฐบาลต้องมีวิธีดำเนินการไม่ใช่ส่งเรื่องไปแล้วรอนิ่งเฉย
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้