กรณีทีมนักวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต แถลงผลตรวจเลือดในผู้ใหญ่จำนวน 1,004 คน ซึ่งพบมีสารโลหะหนัก ได้แก่ แมงกานิส สารหนู และไซยาไนด์ ตกค้างในร่างกายเกินค่ามาตรฐานถึง 675 คน ขณะที่ผลการตรวจเลือดเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 15 ปี จำนวน 297 คน พบสารโลหะหนักเกินมาตรฐานถึง 220 คน ทำให้คณะทำงานเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งหาวิธีรักษาชาวบ้านและเด็กโดยด่วน
โดย นางฉัตรพร ราษฎร์สดุดี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ระบุว่าหลังจากนี้จะส่งมอบรายชื่อผู้ที่มีสารโลหะหนัก ให้สาธารณสุขจังหวัดดำเนินการ และเตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะทำงานร่วมแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ส่งต่อให้คณะทำงานชุดใหญ่ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง เพราะจังหวัดมีงบประมาณไม่เพียงพอ
ส่วนความเคลื่อนไหวจากทาง บริษัท อัครา รีซอสเซส นั้น วันนี้ (11 มี.ค. 2559) ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก ระบุผ่านเอกสารประชาสัมพันธ์ของบริษัท โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผลการตรวจเลือดว่า ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ตามหลักสากล ทั้งการไม่ระบุพื้นที่ขอบเขตในการศึกษา และขนาดกลุ่มประชาชนตัวอย่าง ที่ไม่ได้คัดกรองตามวิธีการระบาดวิทยา ส่งผลให้สิ่งที่นำเสนอแตกต่างจากข้อมูลของหน่วยงานรัฐอื่นๆ อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการศึกษาของของกระทรวงสาธารณสุข หรือกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่าพืชผักและน้ำในพื้นที่ปลอดภัย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเลือด ระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2558 โดยใช้ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลรามาธิบดี และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจวิเคราะห์ผลดังกล่าว