วันแรกโครงการบ้านประชารัฐ ประชาชนสนใจยื่นกู้คึกคัก

โดย PPTV Online

เผยแพร่

นักวิเคราะห์ ชี้ผู้ประกอบการที่มีสต๊อคบ้าน ราคาต่ำกว่า 1.5 ล้าน จะได้รับประโยชน์โดยตรง

 

วันนี้ (23 มี.ค. 2559) วันแรกสำหรับการเปิดให้ประชาชน ยื่นกู้เพื่อที่อยู่อาศัยในโครงการประชารัฐ สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ด้วยวงเงินไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐ เดินทางเข้ายื่นเอกสารกับธนาคารอาคารสงเคราะห์อย่างเนื่องแน่น สรุปยอดผู้ยื่นกู้วันแรกมีมากว่า 2,000 ราย โดยส่วนใหญ่ประชาชนมีความสนใจ และพอใจกับโครงการที่รัฐบาลตั้งเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย

โครงการบ้านประชารัฐเพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย กำหนดคุณสมบัติของประชาชนที่สามารถเข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยและไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ ในที่อยู่อาศัยมากก่อน สามารถยื่นกู้ได้โดยไม่มีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำในการกู้ แต่กำหนดกู้ได้รายละ 7 แสนบาท สูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบเงื่อนไขระหว่าง โครงการบ้านประชารัฐกับโครงการบ้านเอื้ออาทร จะพบว่าไม่แตกต่างกันมากนัก โดยในยุครัฐบาลทักษิณ กำหนดอายุผู้เข้าร่วมโครงการไว้ที่ 20 ปีบริบูรณ์เหมือนกัน แต่มีเงื่อนไขระบุว่าต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000บาท ไม่กำหนดกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าบ้านหลังแรก ไม่กำหนดราคาและรูปแบบบ้าน แต่ต้องเป็นบ้านของการเคหะแห่งชาติเท่านั้น

การปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน ในโครงการประชารัฐ รายละไม่เกิน 1.5 ล้านบาท โดยธนาคาร ธอส. และ ธนาคารออมสิน จะปล่อยสินเชื่อ ระยะเวลากู้ไม่เกิน 30 ปี กรณีที่กู้ไม่เกิน 7 แสนบาท 3 ปีแรก ส่งงวดละ 3,000บาท โดยปีแรกจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย ส่วนปีที่2 และ 3 ดอกเบี้ย 2%  ส่วนปีที่ 4-6 ผ่อนเดือนละ4,000บาท คิดดอกเบี้ย 5% และปีที่ 7เป็นต้นไป ส่งงวดละ 4,500บาท ส่วนบ้านเอื้ออาทร ดอกเบี้ยร้อยละ 5 คงที่ปีที่ 1 ปีที่ 2 ร้อยละ 6.5 ปีที่ 3 ร้อยละ 7.5 แล้วปล่อยลอยตัว ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี

สรุปภาพรวมโครงการบ้านเอื้ออาทร ก่อสร้างเพื่อตอบสนองผู้มีรายได้น้อย แต่กลับไม่ได้ตอบสนองประชาชนที่เข้าไปอยู่จริง แต่เป็นการตอบสนองต่อผู้รับเหมาเพราะโครงการเกิดความล้มเหลว เนื่องจากโครงการที่สร้างมาแล้วไม่มีคนซื้อ ทำให้ 3 ปีหลังปิดโครงการส่งผลทำให้การเคหะแห่งชาติ ต้องแบกรับภาระหนี้สินจากโครงการบ้านเอื้ออาทรถึง 80,000 ล้านบาท โดยยุคนั้นรัฐบาลต้องอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเพื่อให้การเคหะแห่งชาติมีสภาพเงินคล่อง และสามารถดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่อไปได้

ขณะที่นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ระบุว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีสต๊อกบ้านในมือ ซึ่งเข้าข่ายโครงการบ้านประชารัฐ ซึ่งมีมูลค่ารวม 23,700 ล้านบาท โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีสต๊อคบ้าน ราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท จะได้รับประโยชน์โดยตรง เพราะสามารถระบายสต็อคบ้านเก่าออกไปได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่านโนบายนี้จะกระตุ้นกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในระยะสั้น

BTM-US-ELECTION2024 BTM-US-ELECTION2024

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ