เตือนเฝ้าระวังโรคติดต่อข้ามพรมแดน

โดย PPTV Online

เผยแพร่

แพทย์เตือนโรคติดต่อจากการเดินทางย้ายถิ่นฐาน ผลกระทบทางสุขภาพจากการเปิด AEC

การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community: AEC)  ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังโรคติดต่อจากการเดินทางย้ายถิ่นฐาน ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ปัญหาโรคผิวหนังต่างๆ ที่เคยพบและหายไปจากประเทศไทย อย่างเช่น โรคเรื้อน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ โรคลิชมาเนีย และโรคเท้าช้าง อาจจะพบได้ง่ายขึ้น

รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ชี้ว่าการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปัจจุบัน ทำให้พฤติกรรมการโยกย้ายถิ่นฐานในการเข้าทำงาน การท่องเที่ยวหรือการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย หรือประกอบกิจธุระอื่นๆ ของชาวต่างชาติ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาของโรคผิวหนังที่เคยพบและหายไปจากประเทศไทย อย่างเช่น โรคเรื้อน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ โรคเท้าช้าง โรคลิชมาเนีย อาจจะพบได้ง่ายขึ้น จึงต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 

 

“โรคเรื้อน” คืนชีพ..

นพ.กฤษฎา มโหทาน นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ในการกำจัด “โรคเรื้อน” จนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ คืออัตราความชุกโรคเรื้อนต่ำกว่า 1 ต่อ 10,000 ประชากร ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน แต่ในปี 2554 – 2558 พบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในประชากรต่างด้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบผู้ป่วยสัญชาติเมียนมา มากที่สุดคือ 149 ราย กัมพูชา 3 ราย ลาว 3 ราย  จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย สัญชาติละ 1 ราย โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา ประเทศไทยค้นพบจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อน ในประชากรต่างด้าวในพื้นที่ภาคเหนือมากที่สุด 27 ราย ภาคกลาง 8 ราย กรุงเทพฯ 2 ราย และภาคใต้ 4 ราย

 

5 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพิ่มสูง

พญ.รัตติยา เตชะขจรเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และระบาดวิทยา โรงพยาบาลบางรัก กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทย ในช่วงปี 2553-2558 พบว่า อัตราการติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์เพิ่มสูงขึ้น จาก 20.43 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน เป็น 23.23 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน จำแนกเป็น 5 โรคหลัก คือ โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคแผลริมอ่อน โรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆ ที่ไม่จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลักด้วย เช่น พยาธิช่องคลอด ช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย เริม หูดหงอนไก่ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะผู้ป่วยต่างชาติ พบว่าอัตราการติดโรคย้อนหลังในช่วงปี 2554-2557 มีแนวโน้มสูงขึ้น และพบในสัญชาติเมียนมา กัมพูชา และลาว ตามลำดับ โดยโรคที่พบบ่อย 3 อันดับแรก คือ โรคซิฟิลิส โรคหนองใน โรคหนองในเทียม

 

“โรคลิชมาเนีย” และ “โรคเท้าช้าง” ต้องเฝ้าระวัง

ผศ.ดร.พญ.จิตติมา ฐิตวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรคลิชมาเนีย” เป็นอีกโรคติดต่อเรื้อรังของคนและสัตว์ ที่เกิดขึ้นได้จากการเดินทางเคลื่อนย้าย โรคนี้เกิดจากเชื้อโปรโตซัวเป็นพาหะนำโรค เมื่อริ้นฝอยทรายเพศเมียกัดกินเลือดสัตว์ที่มีเชื้อแล้วปล่อยเชื้อเข้าสู่คน ปัจจุบันมีแหล่งแพร่โรคมากกว่า 88 ประเทศ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา เอเซีย และอเมริกาใต้  การแสดงอาการขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อและภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ประกอบด้วย 1. โรคที่มีอาการเฉพาะผิวหนัง พบตุ่มเล็กๆ บริเวณผิวหนังที่ถูกแมลงกัด แล้วแตกออกเป็นแผล 2. โรคที่มีอาการที่อวัยวะภายใน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ซีด ม้ามและตับโต และ 3.โรคที่เกิดขึ้นกับเยื่อเมือก ลักษณะคล้ายกับที่เกิดขึ้นที่ผิวหนัง แต่แผลจะแพร่ไปในเยื่อเมือก เช่น จมูก ปาก เป็นต้น

ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2503-2558 มีรายงานผู้ป่วยทั้งสิ้น 66 ราย โดยก่อนหน้านี้มักพบในคนไทยที่มีประวัติการเดินทางไปในแหล่งระบาดของโรคโดยเฉพาะประเทศทางตะวันออกกลาง แต่หลังจากปี 2539 จนถึงปัจจุบัน พบโรคนี้ในผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศมาก่อน โดยพบในแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย

ผศ.ดร.พญ.จิตติมา กล่าวต่อว่า อีกโรคหนึ่งคือ “โรคเท้าช้าง” เกิดจากพยาธิตัวกลมฟิลาเรีย ติดต่อจากคนไปสู่คนโดยมียุงเป็นพาหะนำโรค คนที่ติดเชื้อโรคเท้าช้างมีอาการแสดงได้ 3 แบบ ได้แก่ 1.ไม่แสดงอาการแต่ตรวจพบไมโครฟิลาเรียในเลือด พบในผู้ติดโรคส่วนใหญ่  2. คนที่มีอาการ ในระยะแรก มักมีไข้ เจ็บ บวมตามแนวของต่อมและท่อน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ขา ขาหนีบ หรืออัณฑะ และ 3.หากการอักเสบเรื้อรังเป็นนานหลายปีท่อน้ำเหลืองจะอุดตัน ทำให้อวัยวะนั้นบวมโตอย่างถาวร เพื่อป้องกันความพิการถาวรจึงควรวินิจฉัยและรักษาโรคในระยะเริ่มแรกให้หายขาด

Bottom-PL-HLW Bottom-PL-HLW

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

PPTVHD36

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ