ภัยพิบัติใหญ่ ... เฉลยข้อสอบที่เรา (ไม่) อ่าน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โดย สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

 

 

 

แผ่นดินไหวที่คุมาโมโตะคราวนี้ เป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมได้มาญี่ปุ่น ... จากที่เคยเห็นตอนเกิดสึนามิ ... เห็นความเป็นระเบียบของชาวญี่ปุ่น ที่แม้ประสบภัยหนักก็ยังคงรักษาวินัยอย่างดีเยี่ยม

ผมมาคราวนี้ ... ตั้งใจอย่างมาก ว่านอกจากจะมารายงานความเดือดร้อนในฐานะเพื่อนมนุษย์ ยังหวังจะมาเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ของพวกเขากลับไปด้วย... และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ... เพียงแค่วันสองวันแรกในพื้นที่ประสบภัย ผมได้รับองค์ความรู้มหาศาลจากพวกเขา ... ทั้งการเตรียมพร้อม การเผชิญเหตุ และหลังเผชิญเหตุ

 

 

แน่นอนว่าเหรียญมี 2 ด้าน ... การที่ญี่ปุ่นเป็นเช่นนี้ พวกเขาก็ต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงลิ่ว เพื่อติดองค์ความรู้ให้กับประชาชน ซึ่งรวมถึง "นิสัย" ด้วย 

ผมอยากให้มองไปที่เรื่องแรก คือ ความพร้อม

เรื่องนี้สำคัญที่สุด ... เพราะจะทำให้สองประเด็นหลังคือการเผชิญเหตุและหลังเผชิญเหตุ เป็นเรื่องง่าย

 


 

ข้อแรก ... บ้านพังยับเยิน แต่เสียชีวิตแค่ 40 กว่าคน

พวกเขารู้จักแผ่นดินไหว ... เคารพมัน .. ให้ความยำเกรง ... จึงมีความพร้อมอย่างเหลือเชื่อ

มีหลักสูตรสอนเรื่องแผ่นดินไหวและการปฏิบัติตัวในโรงเรียน ... แม้ในพื้นที่นี้ คิวชู จะไม่เคยอยู่ในสายตาว่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงแบบนี้ แต่เชื่อไหมว่า พวกเขาซ้อมเผชิญเหตุเสมอ ... ในโทรศัพท์ทุกเครื่องของชาวญี่ปุ่น มีสัญญานเตือนภัยที่จะดังทันทีเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ... นี่แค่ส่วนหนึ่ง

 

 

เมื่อเกิดเหตุ ทุกคนจึงรู้ว่าต้องทำอย่างไร ...ต้องไปที่ไหน หลังเกิดเหตุต้องอยู่อย่างไร ... 

ภัยพิบัติ ที่ควบคุมไม่ได้ ... จึงควบคุมการสูญเสียให้อยู่ในวงจำกัดได้อย่างเหลือเชื่อ

ภัยพิบัติ ... ไม่ใช่แค่แผ่นดินไหว ... พายุ น้ำท่วม ล้วนเป็นหมด

ภาคเหนือของเรา เกิดไฟป่าทุกปี ... เรามีแผนเผชิญเหตุอย่างไร

สัญญานเตือนภัย เรามีกี่จุดในพื้นที่เสี่ยงน้ำป่า ดินถล่ม สึนามิ และที่มีอยู่..ใช้ได้กี่เปอร์เซ็นต์


 

ในพื้นที่ที่เคยเกิดสึนามิ ป่าตอง พีพี ไปดูสิว่าป้ายทางหนีคลื่นสภาพเป็นไง แล้วถ้าไปตามป้ายแน่ใจไหมว่า ไม่เจอทางตัน ไม่ชนตึกที่ขวางไว้ หรือไม่แคบเกินไปจนเหยียบกันตาย

เด็กๆที่พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล มีเรียนวิชาสึนามิไหม ... ที่เชียงรายที่เคยพังพาบจากแผ่นดินไหวมีสอนวิชาหนีภัยจากแผ่นดินไหวไหม

อาคารบ้านเรือน พร้อมรับมือภัยพิบัติแค่ไหน ... เส้นทางคมนาคมขนส่งยามเกิดภัยพิบัติมีไหม

น้ำท่วมใหญ่เจอมาแล้ว ... ต่างคนต่างทำคันกั้นน้ำ อีกฝ่ายกั้น อีกฝ่ายรื้อ 

รัฐไร้บทบาท ชาวบ้านสองฝั่งคันกันน้ำ ถึงกับเผชิญหน้ากันเอง บางที่ต้องถือปืนคุมเชิง ... ระบบสั่งการจากศูนย์กลางไม่มีใครเชื่อถือ ... เพราะบอกว่า "เอาอยู่" แต่ "เอาไม่อยู่"

มีตัวอย่างให้ดู ... มีบทเรียน มีข้อสอบให้ลอกหลายครั้งแล้ว ..

มีคนในไทยมากมายที่เคยเป็นผู้ประสบภัยเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ดีกว่ารัฐ

เปิดหู เปิดตา กันได้รึยัง ... 

หรือต้องมาดูข่าว "น้ำท่วม" .. ในไทย มีคนตายมากกว่า "แผ่นดินไหวใหญ่" ที่ญี่ปุ่น.. กันต่อไป

 

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ