จากกรณีรถกระบะเสียหลักข้ามเกาะกลางถนน พุ่งชนรถตู้โดยสารสาธารณะ บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 305 หลักกิโลเมตร ที่ 51 - 52 เส้นรังสิต-นครนายก ฝั่งขาเข้ากรุงเทพมหานคร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และบาดเจ็บนับ 10 คน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในจุดนี้ นอกจากสภาพถนนที่เป็นทางตรง ทำให้ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ขับรถด้วยความเร็ว และทัศนวิสัยอื่นๆ เช่น ภาพพื้นดิน และต้นไม้ริมทางแล้ว อาจเกี่ยวข้องกับการที่ถนนเส้นนี้ เป็นจุดทดลองใช้ยางพาราลาดพื้นถนนหรือไม่นั้น โดยขณะนี้ในสังคมออนไลน์มีการส่งต่อข้อความ ให้ระมัคระวังเวลาขับรถผ่านบริเวณนี้ในช่วงฤดูฝน เพราะถนนยางพาราจะลื่นกว่าถนนทั่วไป ทำให้ที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุนับ 10 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนยีแห่งเอเชีย(AIT) กล่าวว่า ขณะนี้อาจยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน ว่าอุบัติเหตุในบริเวณดังกล่าวเกิดจากเหตุปัจจัยอะไรบ้าง โดยเฉพาะข้อสังเกตที่ระบุว่าอาจเป็นเพราะถนนในบริเวณนี้ เป็นจุดทดลองใช้ยางพาราเป็นส่วนผสหรือไม่นั้น ในทางปฏิบัติจะต้องมีการลงพื้นที่สำรวจ ทั้งโครงสร้างถนนและการทดสอบค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน ว่าน้อยกว่า 0.3 หรือไม่ หากน้อยกว่าก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพราะโดยมาตรฐานทั่วไปแล้วพื้นถนนที่ดี จะต้องมีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน ระหว่าง 0.5 – 0.8 ถึงจะปลอดภัยสำหรับการขับขี่
“ตามหลักแล้วการใช้น้ำยางพารามาผสมทำพื้นถนน จะต้องดูถึงความแข็งแรงทนทานและประสิทธิภาพการรับน้ำหนักด้วย จากนั้นจะต้องมีการทดสอบค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน จำลองภาวะที่ถนนลื่นเพื่อให้ได้ค่าตามมาตรฐาน โดยในต่างประเทศจะมีข้อแตกต่างจากไทยเรา ตรงที่ใช้ยางจากล้อรถยนต์ที่ใช้แล้ว มาผ่านกระบวนการรีไซเคิลผสมเป็นพื้นถนน แต่ขั้นตอนสุดท้ายที่เหมือนกันคือ ต้องมีการทดสอบค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการศึกษาการใช้ยางธรรมชาติในงานทาง โดยการผสมยางพารากับยางมะตอยของ นางนพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย พบว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถใช้ปรับปรุงสมบัติของยางมะตอยให้ดีขึ้นโดยอาศัยสมบัติบางประการที่เป็นข้อดีของยางธรรมชาติเช่น ความคงตัวสูง (Stability), ความยืดหยุ่นดี (Elasticity) และทนความล้าดี (Fatigue resistance) มาเป็นตัวเสริมสมบัติของยางมะตอยทําให้สามารถยืดอายุการใช้งานของถนน ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณในการซ่อมบํารุงถนน
โดยการใช้ยางพาราผสมยางมะตอยลาดถนนมีการทดลองมานานแล้ว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้ยางพาราในรูปยางแห้ง น้ำยาง และยางผง (ยางรีเคลมจากผลิตภัณฑ์ยาง) ผสมกับยางมะตอย แล้วนําไปทดลองลาดถนน จากรายงานของสถาบันวิจัยยางมาเลเซีย (1993) ได้ทดลองเรื่องใช้ยางพาราในงานลาดถนนตั้งแต่ปี 2493 โดยใช้น้ำยางผสมยางมะตอยอัตรา 5% ลาดถนนระหว่างเมือง Kata Bharu และ Kual Krai เป็นระยะทาง 100 หลา พบว่าถนนมีสภาพดีและมีอายุการใช้งานนานขึ้น
และจากรายงานของ Sansuri (1996) ได้ทดลองใช้ยางรีเคลมจากถุงมือยางและยางรถยนต์ผสมยางมะตอยลาดถนนที่ Sungai Buloh เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตรและที่ Putrajaya เป็นระยะทาง15กิโลเมตรทําให้ถนนทนทานมากขึ้น และจากรายงานของ INRO (1999) พบว่ามีการใช้ยางธรรมชาติในงานทางอย่างกว้างขวาง ทั้งในเนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย