บทบาทของเหล่ามิจฉาชีพที่สวมรอยแฮกเฟซบุ๊กและอ้างตัวเป็นเจ้าของ เพื่อส่งข้อความหาเพื่อนๆและคนสนิท ว่ากำลังเดือดร้อนเรื่องเงิน และต้องการให้โอนเงินไปยังเลขที่บัญชีของคนร้าย ซึ่งมักมีผู้เสียหายหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก
ปัจจุบันพวกมิจฉาชีพมีวิธีต่างๆมากมายที่สามารถแฮกพาสเวิร์ดได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและอีเมลล์ ซึ่งสถิติในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท ล่าสุดที่จังหวัดชัยนาทและเชียงใหม่ เกิดเหตุคนร้ายแฮกเซฟบุ๊กข้าราชการระดับสูง แอบอ้างตัวเป็น ผู้อำนวยการ ส่งข้อความหลอกลวงผู้เสียหายให้โอนเงิน จนมีผู้หลงเชื่อและสูญเงินนับแสนบาท
สำหรับวิธีที่คนร้ายใช้หลอกขโมยพาสเวิร์ด คือการเดาตัวเลขจากวันเดือนปีเกิดหรือเบอร์โทรศัพท์ของเหยื่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มักชอบตั้งพาสเวิร์ดเป็นวันเดือนปีเกิดและเบอร์โทรศัพท์เพื่อกันหลงลืม และเป็นการง่ายที่คนร้ายจะหาข้อมูลเหล่านี้ได้ทางอินเทอร์เน็ต
อีกวิธีหนึ่งคือการสร้างหน้าเพจปลอมของเฟซบุ๊กขึ้น แล้วแจ้งว่าพาสเวิร์ดของคุณกำลังจะหมดอายุ หรือแจ้งว่ามีคนร้ายกำลังจะแฮ็กข้อมูล จากนั้นจะแนบลิ้งปลอมเพื่อให้ทำการเปลี่ยนพาสเวิร์ดใหม่ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อกดคลิกเข้าไปและกรอกใส่ข้อมูล คนร้ายก็จะได้พาสเวิร์ดไปในทันที
ส่วนวิธีสุดท้ายคือคนร้ายจะปล่อย SPYWARE เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยที่ SPYWARE นั้นจะทำลายระบบและเข้าถึงข้อมูลในคอมฯทั้งหมด ซึ่งนั่นก็แปลว่าคนร้ายจะสามารถล่วงรู้ถึง PASSWORD และข้อมูลทุกได้อย่างง่ายดาย
สำหรับวิธีป้องกันตัวเองแบบง่ายๆ 3 ข้อ คือห้ามมึน อย่าเป็นแค่ผู้ใช้งานเพียงอย่างเดียวและควรหาความรู้ป้องกันเพิ่มเติม ห้ามซื่อ ควรเป็นคนช่างสังเกตไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ และห้ามขี้เกียจ ควรตั้งค่าระบบรักษาความปลอดภัยเพิ่ม และที่สำคัญอย่าตั้งพาสเวิร์ดเป็นตัวเลขโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ขอฝากเตือนหากมีคนรู้จักทักเฟซบุ๊กมาให้โอนเงิน ต้องโทรเช็คกับเจ้าตัวโดยตรงทุกครั้ง เพราะมีความเป็นไปได้ว่าคนร้ายอาจแฮกเฟซบุ๊กเข้าไปหลอกลวง แม้จะเสียเวลาเพียงเล็กน้อย แต่ก็ดีกว่าเสียเงินให้เหล่ามิจฉาชีพไปแบบฟรีๆ และยากที่จะติดตามกลับทวงคืนมา