เปิดผลวิจัยสารเคมีตกค้าง จ.น่าน – ใช้มากในไร่ข้าวโพด ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




มหาวิทยาลัยนเรศวร สรุปผลวิจัยการปนเปื้อนของสารพิษบนพื้นที่ต้นน้ำน่าน พบสารเคมีก่อมะเร็ง ตกค้างในน้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด และปลา สูงเกินค่ามาตรฐาน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เผยผลสรุปจากการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพหน่วยงานท้องถิ่น ในการจัดการและป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษบนพื้นที่ต้นน้ำน่าน พบสารเคมีตกค้างในน้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด และตกค้างในปลาที่เลี้ยงในพื้นที่ต้นน้ำ โดยพบว่าน้ำประปามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช "อาทราซีน" เฉลี่ย 12.29 ไมโครกรัม/ลิตร และพบในน้ำดื่มบรรจุขวดเฉลี่ย 18.78 ไมโครกรัม/ลิตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่หลายประเทศกำหนด เช่น ออสเตรเลียกำหนดให้ไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม/ลิตร และแคนาดากำหนดไว้ 5 ไมโครกรัม/ลิตร

นอกจากนั้น ยังพบการตกค้างของสารเคมีกำจัดวัชพืช "ไกลโฟเสท" เกินมาตรฐานในปลาซึ่งเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำน่านทุกตัวอย่าง (19/19) พบ "พาราควอท" เกินมาตรฐานทุกตัวอย่าง (19/19) และพบสารเคมีกำจัดแมลง "คลอไพรีฟอส" 15 ตัวอย่างจาก 19 ตัวอย่าง โดยในกรณี ไกลโฟเสท นั้นมีการพบการปนเปื้อนสูง 1,047.48 – 9,613.34 ไมโครกรัม/ก.ก. ในขณะที่ค่ามาตรฐานที่กำหนดอยู่ในระดับเพียง 50 ไมโครกรัม/ก.ก. เท่านั้น

สารที่มีการตรวจพบเป็นสารที่มีอันตรายร้ายแรงทั้ง 4 ชนิด อีกทั้งมีปริมาณการใช้สูงสุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของสารเคมีที่มีการนำเข้ามากที่สุด โดยจากสถิติเมื่อปี 2558 ไกลโฟเสท เป็นสารที่นำเข้าเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของสารเคมีทั้งหมด พาราควอท มีการใช้รองลงมาเป็นอันดับ 2 อาทราซีน อยู่ในลำดับที่ 4 และ คลอไพรีฟอส สารเคมีฆ่าแมลงที่นำเข้ามากที่สุดอยู่ในลำดับที่ 9

ภายหลังผลการวิจัยปรากฎเป็นข่าว นพ.คณิต ตันติศิริวิทย์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน ระบุว่าจากการประชุมของกลุ่มประชาคมมีความเห็นว่า แม้ว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรสุ่มตรวจยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงที่จังหวัดน่าน แต่อย่าให้คนน่านตกเป็นจำเลยเพราะสารเคมีเหล่านี้ ส่วนใหญ่ถูกใช้ในการทำไร่ข้าวโพดซึ่งทำกันเป็นจำนวนมาก ครอบคลุมทั้งภาคเหนือที่เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสถิตินำเข้ายากำจัดวัชพืชครึ่งปีอยู่ที่ 81 ล้านกิโลกรัม จังหวัดน่านใช้ 1.2 ล้านกิโลกรัม คิดเป็น 1.5% เชื่อว่าถ้าตรวจจริงทุกพื้นที่ก็คงมีเช่นกัน ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่คนทั้งประเทศและผู้บริหารของประเทศ ต้องร่วมกันคิดว่าเรากำลังเอาทรัพยากรที่มีค่าทั้งดิน น้ำ ป่า อากาศที่มีหมอกควัน ไปแลกกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อหวังผลระยะสั้นอย่างนั้นหรือ

“กลุ่มประชาคมน่านมีความเห็นร่วมกันว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายหลายมาตรา การใช้มาตรการในอดีตโดยการจับกุมคนบุกรุกป่าทำไร่ข้าวโพดนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ การแก้ไขปัญหาที่ทำได้สำเร็จอย่างยั่งยืนมีตัวอย่างคือโครงการปิดทองหลังพระตามแนวพระราชดำริ ที่พัฒนาแหล่งน้ำและให้ชาวบ้านร่วมปลูกป่าและร่วมดูแลป่า โดยได้ค่าจ้างที่เป็นธรรมพอเลี้ยงชีพได้”

ทั้งนี้ เพื่อยืนยันผลสรุปจากงานวิจัยข้างต้น ขณะนี้ นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษตั้งคณะทำงานติดตามแก้ปัญหาคุณภาพน้ำ ร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่3 จ.พิษณุโลก ศึกษารายละเอียดในรายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร ว่ามีการเก็บตัวอย่างน้ำในพื้นที่ใดบ้าง มีค่าเกินค่ามาตรฐารที่กำหนดจริงหรือไม่ เนื่องจากมาตรฐานในการตรวจวัดคุณภาพน้ำมีหลายรูปแบบ มีการเก็บสถิติย้อนหลังกี่ปีและนำมาแปลงความหมายได้ตรงตามข้อเท็จจริงหรือไม่ พร้อมกันนี้ยังให้ประสานข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.น่าน สรุปเป็นรายงานเสนอกลับมายังกระทรวง เพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหาเชิงนโยบายต่อไป

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ