นักวิจัยองค์การสวนสัตว์ฯ ชำแหละความเสี่ยง ขนย้าย “ตัวเหี้ย”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แม้ในทางวิชาการจะเข้าใจในสิ่งที่กรุงเทพฯกำลังเผชิญกับปัญหาจากตัวเหี้ยในการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนสาธารณะ แต่ในทางกลับกันการจัดการกับเจ้าตัวนี้ในภาวะที่มีข้อมูลจำกัด ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ตามข้อมูลในงานวิจัยขององค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์

ห่วงโซ่อาหารนี้แสดงให้เห็นระบบนิเวศที่มี “ตัวเหี้ย” เข้ามาข้องเกี่ยว  “ตัวเหี้ย” ถือเป็นสัตว์ที่ควบคุมระบบนิเวศวิทยา ตามสวนสาธารณะ จะมี นก หนู งู รวมถึงปลาอยู่จำนวนมาก เจ้าตัวเหี้ยจะกินสัตว์เหล่านี้เป็นอาหารทั้งแบบเป็นและแบบตาย นั่นหมายความว่า หากตัดตัวเหี้ยออกจากห่วงโซ่อาหาร อาจทำให้สัตว์ชนิดอื่นมีจำนวนมากเกินความต้องการ หรือหากมีซากสัตว์เหล่านี้ที่เสียชีวิตจำนวนมาก ก็จะไม่มีตัวจัดการและอาจกลายเป็นปัญหาได้

ส่วนเหตุผลที่กรุงเทพมหานครระบุว่าตัวเหี้ยทำลายทัศนียภาพในสวนลุม และสร้างความเสียหายให้กับแปลงปลูกต้นไม้และตลิ่ง หรือแม้กระทั่งสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่พบเห็น ก็อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด ถ้าเป็นไปตามข้อมูลของนักวิจัยองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพราะพฤติกรรมของ “ตัวเหี้ย” ไม่ใช่สัตว์นักล่า

 ข้อเสนอแนะของนักวิจัยองค์การสวนสัตว์ยังระบุอีกว่า กรุงเทพฯ ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของตัวเหี้ยอย่างละเอียดก่อน เพราะตามหลักการด้านการจัดการสัตว์มีวิธีหลายวิธีการที่สามารถแก้ปัญหาได้

แนวทางหนึ่งที่ถูกต้องตามข้อมูลของนักวิชาการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่กำลังทำวิจัยศึกษาพฤติกรรมและการควบคุมประชากร "ตัวเหี้ย” อยู่ คือ เริ่มต้นจากการสำรวจปริมาณ จากนั้นต้องเลือกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เช่น ควบคุมการเกิดใหม่โดยการทำหมัน  จำกัดพื้นที่ และการย้ายออกจากพื้นที่ แต่ละวิธีเหมาะสมกับปัญหาต่างกัน เช่น ในกรณีของสวนลุมพินี หากตัวเหี้ยมีปริมาณมากเกินไปและสร้างความเสียหายกับทัศนียภาพโดยรวมแต่หากมีน้อยไปหรือไม่มี ก็อาจทำให้ความสมดุลของระบบนิเวศมีปัญหา วิธีที่เป็นทางเลือกและถูกต้อง ก็คือ การทำหมัน และจำกัดพื้นที่ 

 ตามข้อมูลตัวเหี้ยเป็นสัตว์ 1 ใน 4 ชนิด ที่รัฐบาลต้องการให้ทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ปัญหา ระยะยาว 20 ปี เนื่องจากหลายพื้นที่ เกิดปัญหาระหว่าง ฟาร์มเลี้ยงสัตว์กับตัวเหี้ย ขณะนี้องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ อยู่ระหว่างร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชจัดตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ เพราะ ปัจจุบันงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ ตัวเหี้ย น้อยมาก การจะเข้าไปจัดการโดยไม่มีข้อมูลชัดเจนจึงเป็นแนวทางที่อาจจะต้องมีความระมัดระวัง

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ