เด็กหลอดแก้วจากพ่อแม่ 3 คน (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมแพทย์จากสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วให้กับคู่สามีภรรยาชาวจอร์แดน ด้วยการใช้ดีเอ็นเอจากพ่อแม่ และหญิงผู้บริจาค รวม 3 คน วิธีใหม่เป็นครั้งแรกของโลก วันนี้เราจะไปดูว่า วิธีการที่ว่าเค้าทำกันอย่างไร แบบเข้าใจกันง่ายๆ และความสำเร็จครั้งนี้ จริงๆ แล้ว มีสิ่งที่ยังต้องกังวลอยู่หรือไม่

ความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลงานของทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ให้คำปรึกษาผู้มีบุตรยาก นิว โฮป ในนครนิวยอร์ก ที่นำโดย นพ.จอห์น จาง  ซึ่งแม้ว่าทีมแพทย์จะมาจากสหรัฐฯ แต่กระบวนทำเด็กหลอดแก้วด้วยวิธีที่ว่านี้ต้องบินไปทำกันที่ประเทศเม็กซิโก เพราะว่ากฎหมายสหรัฐฯ ยังไม่อนุญาตการใช้เทคนิคดังกล่าวค่ะ  ส่วนที่เม็กซิโก จะบอกว่าไม่ห้ามก็ไม่เชิง เรียกว่ายังไม่มีกฎหมายที่ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่า

สำหรับคู่สามีภรรยาชาวจอร์แดนคู่นี้  ฝ่ายหญิงเธอมียีนที่ทำให้เกิดโรคทางพันธุกรรมอยู่ในไมโทคอนเดรีย ซึ่งเปรียบเสมือนกับแหล่งพลังงานของเซลล์   ทีนี้ เจ้าไมโทคอนเดรียนี้ แม้จะมีอยู่ในร่างกายทุกคน แต่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่จะถ่ายทอดไมโทคอนเดรียนี้ไปสู่ลูกได้   นั่นหมายความถ้าไมโทคอนเดรียผิดปกติ ลูกที่เกิดมาก็มีโอกาสป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งอาการก็มีตั้งแต่ไม่รุนแรง ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต (โดยเฉพาะในทารก)  โดยผลการวิจัยในสหรัฐฯ พบว่า แต่ละปี จะมีเด็กที่เกิดมาพร้อมกับโรคที่ถ่ายทอดผ่านไมโทคอนเดรียนี้ 4,000 คน

ซึ่งในกรณีของหญิงชาวจอร์แดนรายนี้ เธอพยายามที่จะมีลูกมาตลอด 20 ปี แต่ความผิดปกติในยีนทำให้ลูกของเธอสองคนก่อนหน้านี้เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร (คนแรกเสียชีวิตตอน 6 ขวบ อีกคนเสียชีวิตตอน 8 เดือน) นอกจากนี้ เธอยังเคยแท้งลูกมาแล้วถึง 4 ครั้ง

แต่ความฝันของเธอก็เป็นจริง เมื่อการให้กำเนิดเด็กโดยพ่อแม่ 3 คน วิธีใหม่ ช่วยให้เธอมีลูกได้ในที่สุด ซึ่งเธอตั้งชื่อว่า อับราฮิม ฮัสซัน  

หนูน้อยฮัสซันนี้ จริงๆ ตอนนี้ อายุ 5 เดือนแล้ว เพราะลืมตาดูโลกตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา  โดยเหตุผลที่ทีมแพทย์ประกาศความสำเร็จที่หลังก็เพราะว่าต้องการดูให้แน่ใจว่า หนูน้อยฮัสซันเกิดมาสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ

 

 

วิธีให้กำเนิดเด็กหลอดแก้วจากพ่อแม่ 3 คน

ปัจจุบัน วิธีการให้กำเนิดเด็กหลอดแก้วจากดีเอ็นพ่อ แม่ และหญิงผู้บริจาค รวม 3 คน หลักๆ มีอยู่ 2 วิธี

วิธีแรกเรียกว่า pro-nuclear transfer  หรือวิธีตัวอ่อน  ที่เรียก ตัวอ่อน เพราะว่าวิธีนี้การดัดแปลงจะทำหลังจากที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนระยะแรกแล้ว 

โดยในขั้นตอนแรก ไข่ของผู้ที่เป็นแม่ ซึ่งมีไมโทคอนเดรียผิดปกติ และไข่ของหญิงผู้บริจาคที่ปกติสมบูรณ์ดี จะได้รับการผสมกับน้ำเชื้อจากผู้เป็นพ่อก่อน

หลังจากนั้น ก่อนที่ไข่ทั้งสองใบจะพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะแรก  นิวเคลียสในไข่ของหญิงผู้บริจาคก็จะถูกเอาออก (ขั้นตอนที่ 2)  และเอานิวเคลียสจากไข่ของผู้เป็นแม่มาใส่แทน (ขั้นตอนที่ 3)  แล้วจึงนำไข่ใส่กลับเข้าไปในครรภ์ของผู้เป็นแม่ เพื่อเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนต่อไป

สำหรับวิธีนี้ แพทย์สหรัฐฯ ชื่อ ชาค โคเฮน เป็นผู้พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 โดยเขาได้ใช้วิธีนี้ให้กำเนิดทารกผสมเทียม 17 คน อย่างไรก็ตาม ทารกในครรภ์จำนวนไม่น้อยมีอาการผิดปกติ จนสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ ต้องขอให้คลินิกหยุดใช้เทคนิคดังกล่าวเมื่อปี 2002

ขณะที่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว  สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษได้มีมติเห็นชอบการผสมเทียมเด็กหลอดแก้วจากดีเอ็นเอของ 3 บุคคล ด้วยวิธีนี้ ซึ่งทำให้อังกฤษเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตการมีบุตรด้วยวิธีดังกล่าวได้  ท่ามกลางข้อท้วงติงเรื่องจริยธรรม

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของคู่สามีภรรยาชาวจอร์แดนซึ่งเป็นชาวมุสลิม ไม่สามารถใช้วิธีดังนี้ได้ เนื่องจากจะมีการทำลายไข่ของผู้ที่เป็นแม่ซึ่งได้รับการผสมแล้ว ซึ่งขัดกับหลักศาสนาอิสลาม

ส่วนอีกวิธีหนึ่ง เรียกว่า Maternal Spindle Transfer หรือเราเรียกง่ายๆ ว่า “วิธีไข่” วิธีนี้ แพทย์จะใช้เทคนิคคล้ายๆ กับการผสมเทียมทั่วไป โดยเอาเฉพาะนิวเคลียสออกจากไข่จากผู้เป็นแม่ (ขั้นตอนที่ 1-2)    มาใส่แทนนิวเคลียสในไข่ของหญิงผู้บริจาค (ขั้นตอนที่ 3)  หลังจากนั้นค่อยฉีดน้ำเชื้อของผู้เป็นพ่อเข้าไปเพื่อให้ปฏิสนธิ และใส่กลับเข้าไปในครรภ์ของหญิงผู้เป็นแม่ เพื่อเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนต่อไป

ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่แพทย์สหรัฐฯ ใช้ และคู่สามีภรรยาจอร์แดนยอมรับได้ เนื่องจากเป็นการดัดแปลงกับไข่ซึ่งยังไม่ได้ปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน ขณะที่นิวเคลียสจากไข่ของผู้เป็นแม่เองก็ยังอยู่ มีเพียงไมโทคอนเดรียที่มาจากหญิงผู้บริจาค ซึ่งคิดเป็น 0.2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับดีเอ็นเอของผู้เป็นพ่อและแม่ทั้งหมดในโครโมโซมของตัวอ่อน

วิธีนี้อาจจะฟังดูง่ายกว่าวิธีแรก แต่จริงๆ แล้วโอกาสสำเร็จก็ไม่ใช้ง่ายๆ นะคะ เพราะจากตัวอ่อนทั้งหมด 5 ตัว ที่ทีมแพทย์ของ น.พ.จาง ได้จากกระบวนการนี้ มีเพียงตัวเดียวที่เจริญเติบโตตามปกติ     

 

อังกฤษอนุญาต “เด็กจาก DNA 3 คน” ประเทศเดียวในโลก

แม้การถือกำเนิดของเด็กหลอดแก้วจากดีเอ็นเอของ 3 บุคคล เป็นหลักฐานยืนยันว่ามนุษย์เอาชนะธรรมชาติได้สำเร็จ แต่ยังมีมิติอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่มนุษย์ตั้งขึ้นมาอย่าง ศีลธรรม และ กฎหมาย ที่ไม่อาจเอาชนะได้ง่ายๆ ปัจจุบันมีเพียงประเทศเดียวในโลกที่สามารถก้าวข้ามสองอุปสรรคที่ว่านี้ได้ จะเป็นประเทศไหนและเขาต้องผ่านความขัดแย้งทางความคิดอย่างไร ติดตามจากรายงานพิเศษ

“ทำตัวเป็นพระเจ้า” คือประโยคที่ถูกนำมาโต้แย้งทุกครั้งที่มีความสำเร็จในเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะกับการเลือกรหัสทางพันธุกรรมตามใจชอบ สร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบจากรหัสพันธุกรรมที่ธรรมชาติกำหนดมาให้มีตำหนิ

แต่ประเทศอังกฤษสามารถก้าวข้ามผ่านเส้นแบ่งทางศีลธรรม และออกกฎหมายรับรองการให้กำเนิดเด็กหลอดแก้วจากดีเอ็นเอของ 3 บุคคล ตั้งแต่ต้นปี 2015 ท่ามกลางการคัดค้านจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะคริสตจักร

คริสตจักรแห่งอังกฤษให้เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยว่า แม้สภาพระอัครสังฆราชยอมรับว่าวิธีให้กำเนิดเด็กหลอดแก้วจากดีเอ็นเอของ 3 บุคคลสามารถทำได้ หากเป็นไปเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมาณของมนุษย์ แต่การศึกษาเทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่เพียงพอ และไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบด้านศีลธรรม

นักการเมืองอังกฤษที่ไม่เห็นด้วยก็ใช้ชุดความคิดที่มีพื้นฐานจากหลักศาสนามาโต้แย้ง สส.ฟิโอน่า บรูซ บอกว่าหากผ่านกฎหมายนี้ก็เท่ากับอนุญาตให้มีการทดลองสร้างเด็กอย่างไร้การควบคุม และสังคมมนุษย์จะไม่มีทางเป็นแบบเดิมอีก

ด้านกลุ่มประชาสังคมที่จับตาเรื่องนี้ อย่าง Human Genetics Alert แสดงความกังวลว่า การเปิดโอกาสให้ทำอย่างถูกกฎหมายจะนำไปสู่การเลือกยีนที่พ่อแม่ประสงค์นอกเหนือจากเรื่องสุขภาพ เช่น ยีนความสวยงาม ความฉลาด หรือที่เรียกว่า ดีไซเนอร์ เบบี้

ซึ่งประเด็นนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษที่สนับสนุนกฎหมายดังกล่าว มองว่าเป็นการคิดไปไกลเกินไป เนื่องจากวิธีให้กำเนิดเด็กหลอดแก้วจากดีเอ็นเอของ 3 บุคคล แทบไม่มีผลต่อโครงสร้างพันธุกรรมโดยรวมของเด็ก เนื่องจากเป็นการสับเปลี่ยนยีนของไมโคคอนเดรีย เพียงแค่ 37 จาก 2 หมื่น 2 พันยีน เด็กที่เกิดมาก็ยังมีสีตา สีผิว และรูปลักษณ์เหมือนกับแม่เจ้าของไข่ และพ่อเจ้าของสเปิร์ม

สุดท้ายแล้วดูเหมือนว่า สภาฯอังกฤษเลือกให้ความหวังพ่อแม่ที่มีปัญหาด้านสุขภาพและอยากมีบุตร มากกว่ากังวลเรื่องศีลธรรม จึงผ่านกฎหมายนี้ออกมาด้วยคะแนน 382 ต่อ 128 เสียง และจากข่าวดีล่าสุดของเด็กชายฮัสซัน ก็อาจยิ่งทำให้วิธีให้กำเนิดเด็กหลอดแก้วจากดีเอ็นเอของ 3 บุคคล แพร่หลายมากขึ้นในอังกฤษ โดยเฉพาะหากหลังจากนี้ เด็กชายฮัสซันมีสุขภาพแข็งแรงดี

เด็กชายฮัสซันเป็นความหวังของบรรดาพ่อแม่ที่มีปัญหาสุขภาพและอยากมีบุตรทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อวิธีใหม่นี้ไม่ถือเป็นการทำลายชีวิตตามข้อห้ามของหลายศาสนา หลังจากนี้คงต้องรอดูว่าจะมีความเคลื่อนไหวผลักดันให้ผ่านกฎหมายรับรองในประเทศใดบ้างหรือไม่

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ