คพ.สรุปน้ำเสียราชบุรีเอทานอล เหตุ ปลากระเบนแม่กลองตาย (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมควบคุมมลพิษ แถลงสรุปสาเหตุ การตายของปลากระเบนราหูในลุ่มน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ว่าเกิดจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานราชบุรีเอทานอล ทำให้แอมโมเนียในน้ำสูง เป็นพิษต่อปลากระเบนเฉียบพลัน เตรียมดำเนินคดีตามกฎหมาย

กรมควบคุมมลพิษใช้วิธีตั้งสมมติฐานว่าระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียอิสระ จากการรั่วไหลของน้ำกากส่าโรงงานราชบุรีเอทานอล โดยจำลองแหล่งน้ำธรรมชาติ และเติมน้ำกากส่าและวัดระดับแอมโมเนียทุกๆ 15 นาที พบว่าในเวลา 46 ชั่วโมง ที่น้ำไหลจากโรงงานมาถึงจุดที่พบปลาตาย มีค่าแอมโมเนียเพิ่มสูงถึง 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร เกินกว่าค่าความปลอดภัยต่อสัตว์น้ำถึง 18 เท่า ทำให้ปลากระเบนตายเฉียบพลัน เพราะปลาไม่สามารถขับแอมโมเนียออกจากร่างกายได้ โดยเฉพาะในช่วงที่น้ำมีออกซิเจนต่ำ

สอดคล้องกับผลตรวจเนื้อเยื่อปลากระเบนที่พบสารไซยาไนด์ ของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ระบุว่า ไซยาไนด์เป็นสารตั้งต้นที่ทำให้ปลากระเบนมีอาการอัมพาต และเมื่อเจอแอมโมเนียอิสระยิ่งทำให้เกิดพิษกับปลากระเบนสูงมากขึ้น

ด้านนายสุรพล ซามาตย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จะเดินหน้าตรวจสอบหาแหล่งที่มาของสารไซยาไนด์เพิ่มเติม โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้มันสำปะหลังในขั้นตอนการผลิต อย่างโรงงานผลิตผงชูรส ในจังหวัดราชบุรี

ขณะที่ นายสุทธิชัย ฤทธิธรรม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ยืนยันว่าจะปล่อยปลากระเบน 2 ตัวที่เคยช่วยชีวิตไว้ คืนสู่แม่กลองให้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ จากการตรวจวัดค่าน้ำแม่กลองปัจจุบัน พบว่า ค่าออกซิเจนเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ นับเป็นสัญญาณที่ดีว่าปลากระเบน 2 ตัวอาจถูกปล่อยคืนสู่แม่กลองเร็วๆนี้

ย้อนรอย ต้นเหตุ ฆ่า กระเบนราหู แม่กลอง

หลังใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ ก็ได้ข้อสรุปแล้วว่า สาเหตุที่ทำให้ปลากระเบนราหู ในแม่น้ำแม่กลอง ตายเป็นจำนวนมาก มาจากน้ำกากส่าของโรงงานราชบุรีเอทานอลโดยก่อนที่จะได้ข้อสรุป ทีมข่าวได้ติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและพบข้อมูลจากหลายหน่วยงานที่ไม่ตรงกันหลายประการ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนเราจะย้อนไปดูเหตุการณ์นี้ตั้งแต่วันแรกจน นำมาสู่ข้อสรุปในวันนี้ ติดตามได้จากรายงาน


ภาพปลากระเบนราหู ลอยตายเกลื่อนแม่น้ำแม่กลองในจังหวัดสมุทรสงคราม เริ่มปรากฎให้เห็นชัดเจน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2559  หลังจากนั้นอีก กว่า 1 สัปดาห์ยังพบซากปลากระเบนตายอย่างต่อเนื่อง รวมจำนวนซากที่เก็บได้ทั้งหมดกว่า 50 ตัว

11 ตุลาคม 2559  จังหวัดสมุทรสงคราม กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์ แก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำแม่กลองและหาสาเหตุที่ทำให้ปลากระเบนราหูตาย รวมถึงปลากระชังที่ทยอยตายต่อเนื่อง

หลังคลิปวิดีโอดังกล่าว ถูกเผยแพร่สู่สังคมออนไลน์ โดยระบุว่า เป็นภาพขณะโรงงานราชบุรีเอทานอล ปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำแม่กลอง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 โรงงานนี้ก็ถูกจับตามอง ว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำในแม่น้ำแม่กลองเสีย จนทำให้ปลากระเบนตาย

แต่ขณะนั้น โรงงาน อุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี และ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 8 ออกมายืนยันว่า น้ำกากส่าที่ไหลออกมาเป็นอุบัติเหตุ ระบบน้ำทิ้งโรงงานเสีย และมีปริมาณน้อยไม่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศน์

12 ตุลาคม 2559 อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสงคราม ตรวจระบบน้ำทิ้งโรงงานริมแม่น้ำแม่กลองในจังหวัดสมุทรสงคราม ขณะที่กรมควบคุมมลพิษทยอยรวบรวมตัวอย่างน้ำเพื่อนำกลับไปตรวจสอบ

16 ตุลาคม 2559 สัตวแพทย์ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลผลตรวจเนื้อเยื่อปลากระเบนที่ตาย ว่า พบสารกลุ่มไซยาไนด์

18 ตุลาคม 2559 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมายอมรับว่า การหาต้นเหตุที่ทำให้ปลากระเบนตาย อาจทำได้ยากเนื่องจากข้อมูลหลายหน่วยงานไม่ตรงกัน แต่ กรมควบคุมมลพิษกำลังทดลองความเป็นไปได้ ว่า น้ำกากส่าที่โรงงานราชบุรีเอทานอลปล่อยออกมาเป็นพิษหรือไม่

กระทั่งวันนี้ 21 ตุลาคม 2559 กรมควบคุมมลพิษ สรุปผลการตรวจน้ำในแม่น้ำแม่กลอง ระบุว่า น้ำกากส่าที่โรงงานราชบุรีเอทานอลปล่อยออกมา มีระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียสูง ทำให้ปลาตายเฉียบพลัน

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ