จากหนังสือ “ใกล้เบื้องพระยุคลบาท กับ ลัดดาซุบซิบ” ตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2549 หน้า 51-52 ระบุว่า เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกคือ เพลง “แสงเทียน” เป็นแนวดนตรีบลูส์ หากแต่โปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลง “ยามเย็น” และ “สายฝน” ออกมาก่อน เนื่องเพราะพระราชประสงค์ที่จะแก้ไขเพลง “แสงเทียน” ให้ดีขึ้นอีก
สำหรับเพลงพระราชนิพนธ์สุดท้ายคือ “เมนูไข่” พระราชนิพนธ์ทำนองจากโคลงสี่สุภาพ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนิพนธ์ไว้เมื่อปีพ.ศ.2518
พระราชนิพนธ์เป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษา ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
สำหรับเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ มีดังนี้
“พรปีใหม่” พระราชทานเป็นพรปีใหม่ให้กับพสกนิกรชาวไทยในวันส่งท้ายปีเก่า พ.ศ.2494 และต้อนรับปีใหม่ พ.ศ.2495 โดยทรงเป่าแซกโซโฟนด้วยพระองค์เอง เพลงนี้ทรงพระราชนิพนธ์เนื้อร้องเสร็จในครึ่งชั่วโมง และโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่วงดนตรีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ วงสุนทรภรณ์ ที่กำลังแสดงอยู่ที่โรงหนังเฉลิมไทย
“ยูงทอง” เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คราวทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยนี้ ทรงบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2506
“ความฝันอันสูงสุด” เพลงที่ฟังแล้วสามารถปลุกใจให้คนไทยทุกคนหันมายืนหยัดสู้และร่วมกันปกป้องแผ่นดินแม่ เพลงนี้พระองค์ท่านพระราชนิพนธ์ทำนองหลังเนื้อร้อง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดนตรีเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ครั้งกับวง อ.ส.ทุกวันศุกร์และวันอาทิตย์ สุดแต่จะทรงว่างจากพระราชกิจ เป็นเวลาตลอด 40 ปี
กระนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจดจำวันที่ 5 กรกฏาคม พ.ศ.2503 เป็นพิเศษ ด้วยว่าเป็นวันที่พระองค์ทรงดนตรีร่วมกับเบนนี่ กู๊ดแมน ผู้ได้สมญาว่า “คิงส์ออฟสวิง” เป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยมี เทดดี้ วิลสัน เล่นเปียโน อูร์บี้ กรีน เล่นทรอมโบน และโจนา โจนส์ เล่นทรัมเป็ต
ทั้งนี้ ในวันที่ 28 ต.ค.59 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายความอาลัยแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการแปรอักษรครั้งประวัติศาสตร์ “ชาวธรรมศาสตร์ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป” ณ สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
สำหรับ “ยูงทอง” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 36 ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
บทเพลงพระราชนิพนธ์ธรรมศาสตร์ (ยูงทอง)
คำร้อง : นายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์)
แหล่งศึกษาร่มเย็นเด่นริมสายชล
เราทุกคนรักดุจหัวใจ
ปลูกยูงทองไว้เคียงโดมมุ่งประโลมโน้มใจรัก
ธรรมจักรนบบูชาเทิดไว้
เหลืองแดงแสงธรรมศาสตร์วิไล
ปกแผ่ไปในทุกทาง
สัญลักษณ์ดีเด่นเห็นกระจ่าง
อย่าจืดจางรักร่วมทางกันไป
ทรงธรรมปานดังตราชูเด่น
ทรงเป็นดวงธรรมนำทางให้
พิทักษ์รักษาเชิดชูไว้
อบอุ่นใจไปทุกกาล
พระธรรมสถิตร่วมจิตสมาน
ปฏิญาณรักสามัคคี
รักยูงทองงามเด่นเหนือนที
ขอบคุณภาพจาก กองข่าว และฝ่ายห้องสมุดเฉพาะ สำนักราชเลขาธิการ