ในจำนวน 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา มีทั้งรัฐที่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ รีพับลิกัน และ เดโมเครต ปะปนกันไป บางคนอาจเรียกว่า รัฐสีแดง และรัฐสีน้ำเงิน หรือเซฟสเตท ( Safe State) ที่คาดเดาผลการเลือกตั้งได้ค่อนข้างแน่ชัด แต่นอกจากนี้ ก็ยังมีรัฐที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคใด เรียกว่า สวิงสเตท (Swing State) นอกจากนี้ยังมีชื่ออื่น อย่าง เพอร์เพิลสเตท (Purple State) หรือรัฐสีม่วง สีผสมระหว่างแดงและน้ำเงิน และ แบทเทิลกราวนด์ สเตท (Battleground State) หากแปลตรงตัว ก็หมายถึงสนามรบของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
สำหรับปัจจัยในการพิจารณาว่า มลรัฐใดถือเป็น สวิงสเตท มี 3 ข้อหลักๆ ได้แก่ โพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนแบบทั่วทั้งรัฐ ที่ทำการสำรวจอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุด การนับจำนวนผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชาวอเมริกันระบุอย่างเปิดเผย อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ไม่ใช่หลักประกันว่า ชาวอเมริกันคนนั้นๆจะโหวตพรรคที่ตัวเองเลือก เพราะทุกคนสามารถเปลี่ยนใจได้ และสุดท้ายคือ ผลการเลือกตั้งในอดีต ที่พอจะวาดภาพคร่าวๆให้ผู้สมัครเตรียมตัววางกลยุทธ์หาเสียง
แต่ทั้งนี้ ไม่มีการกำหนดตายตัวว่า สวิงสเตท คือรัฐใดบ้าง เนื่องจากในการเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ละครั้ง จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามมีบางรัฐที่พบว่า เป็น สวิงสเตท บ่อยครั้ง เช่น ฟลอริด้า และ โอไฮโอ เป็นต้น โดยที่ โอไฮโอ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา พรรคที่ชนะในรัฐนี้ มีคะแนนเฉือนคู่แข่งเฉลี่ยเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เรียกได้ว่าชนะอย่างฉิวเฉียด
สวิงสเตทแต่ละรัฐก็มีความสำคัญไม่เท่ากัน เนื่องจากมี Electoral Vote หรือคะแนนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากันนั่นเอง ยิ่งรัฐไหนมี Electoral Vote มาก ผู้สมัครยิ่งให้ความสนใจมาก เช่น ฟลอริด้า ที่มีถึง 29 คะแนน เพราะหากชนะในรัฐนั้นๆ อาจหมายถึงโอกาสได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี
ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ มีสวิงสเตทด้วยกัน11 รัฐ ได้แก่ โคโลราโด ฟลอริด้า ไอโอวา มิชิแกน เนวาดา นิวแฮมป์เชอร์ นอร์ท แคโรไลนา โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย เวอร์จิเนีย และวิสคอนซิน แต่จากโพลคะแนนนิยมของ โดนัลด์ ทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน ที่ทิ้งห่างกันไม่กี่จุด จนกระทั่งถึงช่วงโค้งสุดท้าย ทำให้ผู้เชี่ยวชาญมองว่า นอกจาก สวิงสเตท ที่ต้องลุ้นกันตัวโก่ง ใน เซฟสเตท ก็ใช่ว่าจะวางใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์