วิเคราะห์ หนึ่งนาทีครึ่ง "กราบรถกู" คนอ่านได้อะไร?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กระแสข่าว "กราบรถกู" ที่ถาโถมเข้ามาในห้วงเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้ผู้เขียนอยากชวนผู้อ่านวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กัน ว่า อ่านข่าวนี้แล้วเราได้อะไร?

วันนี้ (7 พ.ย.59) หลังจากวลีเด็ด “กราบรถกู” ของน็อต-อัครณัฐ อริยฤทธิ์วิกุล กลายเป็นกระแสที่โด่งดังในโลกโซเชียลมีเดีย สามารถใช้เป็นบทเรียนสำคัญในการใช้ชีวิตของคนไทยหลายคนได้ (อ่านข่าว : จิตแพทย์แนะกำจัดจุดอ่อน “เสี้ยวนาที” แห่งความโกรธ ก่อนทุกอย่างพังทลาย )

สรุปเหตุการณ์ 24 ชั่วโมงจากอารมณ์ชั่ววูบเพียง 1นาทีครึ่ง ของน็อต-อัครณัฐ

1.กระแสแรง

หลังคลิปถูกเผยแพร่ต้องบอกว่ากระแสแรง เพราะประเด็นพลิก!!! เจ้าของรถจักรยานยนต์มาหาด้วยเจตนาบริสุทธิ์เพื่อรับผิดชอบ แต่! กลับโดนทำร้าย

"อ้าวเฮ้ย..." คำที่ผุดขึ้นในหัวหลังดูคลิปนี้

"สะเทือนใจ" อีกคำที่คิดออก ใครคิดเหมือนบ้าง?

 

2.ตามล่าหาตัว “เจ้าของรถยนต์ มินิ”

พฤติกรรมที่เจ้าของรถมินิคูเปอร์กระทำด้วยท่าทางก้าวร้าว ทำให้คนในโลกออนไลน์ขุดประวัติกันจ้าละหวั่น หายใจทิ้งไม่กี่ทีรีเฟรชข่าว ข้อมูลประวัติเจ้าของรถมินิคูเปอร์สีเหลืองพรั่งพรูออกมาต่อเนื่องในโลกออนไลน์ เช่นเดียวกับประวัติของเจ้าของรถจักรยานยนต์ แม้แต่ข้อมูลที่ว่าเรื่องเกิดมา 2 วันเพิ่งเป็นข่าว แถมไกล่เกลี่ยแล้ว ก็มีให้อ่าน โดยฝีมือของนักสืบโซเชียล

3.ถูกต่อต้านจากสังคม

ข้อมูลที่ไหลทะลักราวกับน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งมาพร้อมกับ โซเชียล แซงชั่น หรือมาตรการลงทัณฑ์ทางสังคม ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของน็อต-อัครณัฐ อย่างรวดเร็ว

ประเดิมด้วยกระแสสังคมที่ต่อต้านทำให้ต้นสังกัด บริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กบัญชีชื่อ GMMTV ว่า บริษัทฯ ได้ยกเลิกสัญญาการเป็นพิธีกรและนักแสดงในสังกัดของบริษัทฯ และขอยุติการทำงานทุกประเภทของ น็อต-อัครณัฐ อริยฤทธิ์วิกุล โดยมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป  (อ่านข่าวเพิ่มเติม : จีเอ็มเอ็มทีวี “ยกเลิกสัญญา” น็อต-อัครณัฐ )

ถูกล้อเลียนจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบคลิปวิดีโอหรือภาพนิ่ง วลีฮิตดังชั่วข้ามคืน ใครๆก็ “กราบรถกู” (คลิป)

ถูกยกเลิกรางวัลคนไทยตัวอย่างประจำปี 2559  สว.นท.ถอดรางวัล "คนไทยตัวอย่างประจำปี 2559" จาก "น็อต อัครณัฐ" แล้ว

และ งานเข้าอีก!! ล่าสุด ไทยพีบีเอสระงับผลงานทั้งหมดของ "น็อต อัครณัฐ" แล้ว 

 

 

นักวิชาการวิเคราะห์ พลังสังคมกับกระแส “กราบรถกู”

ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์กับทีมนิวมีเดียพีพีทีวี ถึงกรณี “กราบรถกู” ว่าหากวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าทำไมประชาชนถึงให้ความสนใจกับกรณีมาก ก็เพราะภาพที่ปรากฏในคลิปวิดีโอเห็นได้คุณน็อต-อัครณัฐ แสดงความเหนือกว่าคู่กรณีที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ และคุณน็อต-อัครณัฐ เองก็เป็นบุคคลสาธารณะ แต่มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว กระชากคอเสื้อของคู่กรณี ตบหน้า ทำร้ายร่างกาย และบังคับให้กราบรถมินิคูเปอร์ของตน ทำให้ผู้ที่ได้รับชมคลิปวิดีโอรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมกับคู่กรณี และสิ่งสำคัญที่สุดในกรณีนี้คือวลีเด็ด กราบรถกู เพราะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปรู้สึกสะเทือนใจมาก เนื่องจากไม่คิดว่าคุณน็อต-อัครณัฐ จะพูดคำแบบนี้ออกมากับคู่กรณี ทำให้ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจต่อกรณีนี้ และก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบเป็นอย่างมากกับคุณน็อต-อัครณัฐ ทั้งในเรื่องของหน้าที่การงานซึ่งถูกสั่งปลด และยกเลิกสัญญาทั้งหมดจากบริษัทต้นสังกัด รวมไปถึงการยึดรางวัล “คนไทยตัวอย่าง” ที่เป็นผลมาจากการกระทำที่ย้อนแย้งของคุณน็อต-อัครณัฐ

นอกจากนี้ ดร.มานะ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า กระแสสังคมที่เกิดขึ้นกับกรณี “กราบรถกู” สามารถเรียกได้ว่าเป็นการรวมกันของ “โซเชียล แซงชั่น” (Social sanction) หรือมาตรการลงทัณฑ์ทางสังคม กับ “ไซเบอร์บูลลีอิง” (Cyberbullying) ซึ่งหมายถึงการแสดงความคิดเห็นด้วยอารมณ์ การด่าทอด้วยคำที่รุนแรงและหยาบคาย เหมารวมไปถึงญาติพี่น้องของผู้กระทำผิด

“ทั้งสองคำนี้มีเส้นกั้นบางๆ อยู่ ในส่วนของการลงทัณฑ์ทางสังคมนั้นเป็นการออกมาเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรม แสดงความคิดเห็นด้วยเหตุผล ที่ไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ส่วนไซเบอร์บูลลี่อิงจะเป็นทิศทางตรงกันข้าม คือจะเน้นความสะใจ ด่าทอด้วยอารมณ์ ใช้ถ้อยคำรุนแรงและคำหยาบคาย หรือแม้กระทั่งเหมารวมไปถึงครอบครัวของคุณน็อตเองด้วย”

ดร.มานะ ฝากถึงชาวโซเชียลมีเดียว่า ถ้าอยากจะแสดงความคิดเห็นหรือร้องขอความเป็นธรรมให้กับคู่กรณีของคุณน็อต-อัครณัฐ ควรใช้เหตุผลมาโต้แย้งกันมากกว่าการใช้อารมณ์ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วก็จะไม่ต่างอะไรกับวิธีการที่เรียกว่าการใช้ “ศาลเตี้ย” มาตัดสิน

“หนึ่งนาทีครึ่ง” เป็นบทเรียนที่ล้ำค่า นิวมีเดียพีพีทีวี ไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นกระแสแล้วผ่านไป นำมาวิเคราะห์และใช้เป็นบทเรียนเตือนใจกัน

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ