องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ นาซา แถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตันดีซี เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย โดยประกาศว่า นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกอย่างน้อย 7 ดวง ในกลุ่มดาว อควอเรียส (คนแบกหม้อน้ำ) โดยดาวเคราะห์เหล่านี้โคจรรอบดาวฤกษ์แคระที่เย็นตัวลงแล้ว ชื่อว่า แทรปปิสต์-วัน (TRAPPIST-1)
นับเป็นการค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเดียวกันมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวง มีขนาดและลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับโลก คือ มีพื้นผิวเป็นหิน และมีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายโลก คือ มีกัมมันตรังสีน้อย และมีอุณหภูมิไม่สูงหรือต่ำเกินไป ซึ่งหมายความว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีน้ำบนพื้นผิวของดาวเคราะห์เหล่านี้ รวมถึงอาจมีสภาวะที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ระบุว่า ในจำนวนดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงที่ค้นพบนี้ มีเพียง 3 ดวง ที่อยู่ในตำแหน่งที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ และมีความเป็นไปได้มากที่สุด
ระยะทางจากโลก นั้นต้องเดินทางเป็นระยะทาง 40 ปีแสง หรือ ประมาณ 380 ล้านล้านกิโลเมตร เปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ โดยใช้ดาวอังคาร ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 225 ล้านกิโลเมตร เป็นเกณฑ์ การจะไปกลุ่มดาวเคราะห์ 7 ดวงนี้ จะเท่ากับ การเดินทางไปดาวอังคาร 1 ล้าน 2 แสนเที่ยว
แม้ในทางดาราศาสตร์ 40 ปีแสง จะถือว่าไม่ไกลมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน หากจะเดินทางไปถึงก็ยังต้องใช้เวลาหลายล้านปี โดยหากเดินทางจากโลกด้วยความเร็วเทียบเท่ากับเครื่องบินเจ็ต คาดว่าจะใช้เวลาเดินทางนานถึง 44 ล้านปี
ข้อมูลที่สนใจอีกอย่างคือ ดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนี้ แต่ละดวงก็อยู่ใกล้กันมาก โดยทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในระยะที่เทียบเท่ากับระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพุธ นั่นหมายความว่า หากเราอยู่บนดาวดวงใดดวงหนึ่งแล้วมองบนท้องฟ้า ก็จะเห็นดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ได้ไม่ต่างจากที่มนุษย์โลกมองเห็นดวงจันทร์ นอกจากนี้ ด้วยตำแหน่งที่อยู่ไม่ไกลจากดาวฤกษ์ ทำให้ดาวเคราะห์เหล่านี้ใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์สั้นมากๆ โดยสั้นที่สุดคือ 1 วันครึ่ง และยาวที่สุดคือ 20 วัน สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ นักวิทยาศาสตร์จะศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์แต่ละดวง เพื่อจะได้ทราบว่าดวงไหนมีน้ำอยู่บนพื้นผิวของดาวจริงๆ และเริ่มค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิต
กลุ่มดาวเคราะห์ทั้ง 7 ดวงนี้ ถูกค้นพบผ่านกล้องโทรทรรศน์สปิตเซอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกล้องสังเกตการณ์อินฟราเรดในโครงการหอดูดาวเอกของนาซา ประกอบกับข้อมูลจากหอดูดาวภาคพื้นดินอีกหลายแห่ง โดยนาซาเริ่มติดตามดาวฤกษ์ แทรปปิสต์-วัน ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 8% ของดวงอาทิตย์มาตั้งแต่ปี 2010 แล้ว แต่ในตอนนั้นพบดาวเคราะห์โคจรอยู่โดยรอบเพียง 3 ดวง ก่อนค้นพบเพิ่มขึ้นเป็น 7 ดวงในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ บอกว่า การจะสังเกตสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่ยากแต่ไม่ยากเกินเทคโนโลยีปัจจุบันแล้ว ก็ต้องศึกษาว่าบรรยากาศของดาวเคราะห์เหล่านี้เป็นอย่างไร ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเกิดมีมนุษย์ต่างดาวที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีสูง แล้วส่องกล้องกลับมาที่โลก ก็จะพบว่า โลกน่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ เพราะมีออกซิเจน มีก๊าซมีเทน มีการดูดกลืนแสงของคลอโรฟิลที่เป็นของพืช และรวมทั้งค่าแม่เหล็กไฟฟ้าพบว่ามีการส่งคลื่นวิทยุ ถ้าหากเราใช้เทคโนโลยีที่คล้ายกันในการศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์เหล่านี้เราก็จะพิสูจนได้ว่าจะมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่