เงินเฟ้อ ม.ค.ติดลบ 0.41% ในรอบ 5 ปี
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
กระทรวงพาณิชย์เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.41 ถือเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบในรอบ 5 ปี 4 เดือน จากสาเหตุราคาน้ำมันปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและการลดลงของค่ากระแสไฟฟ้า

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (CPI) เดือน ม.ค. ดัชนีอยู่ที่ 106.02 ลดลงร้อยละ 0.41 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 0.59 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นอัตราเงินเฟ้อติดลบในรอบ 5 ปี 4 เดือน นับจากเดือน ก.ย. 52 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลง และการลดลงของค่ากระแสไฟฟ้า จากการปรับลดลงของอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือค่า Ft รวมทั้งราคาอาหารสดที่สำคัญประเภท ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผลไม้ และผักสดบางชนิดราคายังคงปรับลดลงตามนโยบายและมาตรการดูแลค่าครองชีพและราคาสินค้าของรัฐบาล
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ไม่มีการจัดทำหลังรัฐบาลเปลี่ยนมาใช้กรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) แทนการใช้กรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในการดูแลเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2558 ที่ระดับร้อยละ 1.8-2.5 แต่ต้องติดตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาอาหารสดว่าจะมีการปรับลดลงอีกหรือไม่ โดยมองว่าขณะนี้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ยังอยู่ในอัตราที่ชะลอตัวลงและเตรียมที่จะทบทวนประมาณการทั้งปีใหม่ในเดือน มี.ค.นี้
ด้านนายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นไปตามที่ได้ประเมินไว้ก่อนแล้ว จากสาเหตุการปรับลดลงของราคาน้ำมันของตลาดโลก โดยยังคงอยู่ในกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดกรอบเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.5 บวกลบร้อย 1.5 หรืออยู่ในกรอบระหว่างร้อยละ 1 - 4 เนื่องจากเงินเฟ้อที่ออกมาติดลบเป็นผลจากด้านอุปทาน คือ ราคาน้ำมันไม่ได้เป็นผลมาจากด้านอุปสงค์
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้