กกร.จ่อถก ธปท.แก้ปัญหาค่าเงินบาท


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กกร.เตรียมเข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในสัปดาห์หน้า เพื่อให้หามาตรการเข้ามาดูแลค่าเงินบาท โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงผันผวนเช่นนี้


นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 องค์กร (กกร.) เปิดเผยว่า เตรียมจะไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 11 ก.พ. 58 เพื่อขอให้จัดหามาตรการดูแลค่าเงินบาทที่เหมาะสม ซึ่งแม้ที่ประชุม กกร. จะเชื่อมั่นว่า ภาพรวมการส่งออกในปีนี้จะยังคงขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 3.5 - 4 แต่ก็ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน โดยเฉพาะกรณีที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศใช้มาตรการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้


ทั้งนี้ หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก จากปัจจุบันที่แข็งค่าเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอยู่แล้ว อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้าก็เป็นปัจจัยลบอีกประการที่กระทบความเชื่อมั่นของเอกชน โดยเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เบิกจ่ายได้เพียง 17,000 ล้านบาท ลดลงจากเป้าที่ตั้งไว้ถึงร้อยละ 8.4


ส่วนภาคการท่องเที่ยวในปีนี้ยังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนและมาเลเซียที่เดินทางมาไทยมากขึ้น จึงประเมินว่าช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึงนี้จะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนแตะ 2 - 3 แสนคน อีกทั้งการท่องเที่ยวภายในประเทศก็ปรับตัวดีขึ้น แต่ยอมรับว่านักท่องเที่ยวจากรัสเซียเดินทางมาไทยลดลง ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินรูเบิลที่อ่อนตัวอย่างหนัก


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเตรียมนำเสนอ 5 ประเด็นสำคัญ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ได้แก่ มาตรการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีระยะเร่งด่วน ที่จะเสนอให้ลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้เอสเอ็มอีทุกขนาดที่จัดตั้งโดยบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยและถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง อาทิ เอสเอ็มอีที่มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบราง ส่งเสริมการใช้สินค้าของประเทศไทย พิจารณาจัดสรรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ และการยกเลิกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศทุกประเภท

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ