“ไฟช็อต-ไฟดูด” อุบัติเหตุเสี่ยงชีวิตคนช่วงน้ำท่วม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในฤดูฝนของประเทศไทย มักจะเกิดฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน บางคนต้องเดินลุยน้ำท่วมออกจากบ้านเพื่อไปทำธุระ แต่อาจจะไม่ทราบหรือไม่ทันระวังว่าทุกย่างก้าวบนน้ำที่ท่วมอยู่นั้นมีภัยอันตรายใกล้ตัวที่คาดไม่ถึงอยู่นั่นคือ “ไฟฟ้าดูด-ไฟฟ้าช็อต” วันนี้พีพีทีวีจะมานำเสนอถึงอันตรายใกล้ตัวจากไฟช็อตในบริเวณที่มีน้ำท่วม รวมถึงวิธีการป้องกันระวังไม่ให้เกิดเหตุนี้กับตัวเอง และวิธีการช่วยผู้ถูกไฟฟ้าช็อตในเบื้องต้น

ระดับน้ำท่วมถึงมิเตอร์ไฟฟ้าต้องรีบตัดไฟ

นายวีรพันธุ์ รุ่งพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวงกล่าวว่า มิเตอร์ไฟฟ้าที่ติดหน้าบ้าน ปกติจะมีระยะห่างจากพื้นดินประมาณ 1.50 เมตร แต่บางพื้นที่มีการยกพื้นสูงขึ้น ตรงนี้จะทำให้ระยะห่างของมิเตอร์ไฟฟ้ากับพื้นดินสั้นลงได้ 

ซึ่งมิเตอร์ไฟฟ้าส่วนใหญ่นั้นก็จะอยู่ในระดับสูงที่สุดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะมีความปลอดภัยอยู่พอสมควรแล้ว  อย่างในช่วงน้ำท่วมในปี 2554 การไฟฟ้านครหลวง จะมีการสำรวจมิเตอร์ทั้งหมด  โดยกำหนดระดับน้ำท่วมไว้ว่าต้องสูงระดับไหนจึงจะตัดไฟ และสถานีจ่ายไฟฟ้าก็ยังมีการกำหนดระดับน้ำไว้เช่นกันว่าท่วมสูงถึงระดับไหนจึงจะตัดไฟฟ้า เมื่อระดับน้ำถึงจุดที่แจ้งเตือนก็ต้องตัดไฟฟ้าทันที หากปล่อยไว้ไม่ตัดไฟ จะมีความเสี่ยงสูงในเรื่องของความอันตรายที่มีต่อประชาชน

กฟน.เฝ้าระวังพร้อมตัดไฟ ช่วงน้ำท่วม

เรื่องการปฏิบัติตัวในหน้าฝน จะมีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอยู่เป็นระยะ ๆ ส่วนเรื่องการตัดไฟในช่วงน้ำท่วมทางการไฟฟ้ามีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอยู่ตลอด หากน้ำท่วมถึงระดับ 1 เมตรขึ้นไป กฟน.จะมีเวลามากพอที่จะตัดกระแสไฟฟ้า  โดยแต่ละเขตก็จะมีการเฝ้าสำรวจอยู่ตลอด และทางประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมด้วยในการเฝ้าระวังภัยด้วยการแจ้งเจ้าหน้าที่หากมีน้ำท่วมสูง

เห็นน้ำท่วมสูง รีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า

หากประชาชนเห็นน้ำท่วมขึ้นสูงควรรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ให้ตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย แต่ประชาชนหลาย ๆ คนยังไม่เข้าใจถึงความเสี่ยงที่จะโดนไฟดูดเมื่อน้ำท่วม และประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อมีน้ำท่วมสูงเพราะไม่อยากให้ตัดไฟ 

สถานที่ที่เกิดเหตุมักจะเกิดในบ้านของประชาชนเอง ซึ่งอาจจะมีการแยกระบบป้องกันไฟฟ้าได้ไม่ดีพอ สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม  แนะนำอยากให้ทำแผงวงจรไฟฟ้าภายในบ้านแยกชั้นบนและชั้นล่าง  เพื่อความปลอดภัย

สพฉ.เผยมีผู้เสียชีวิตจากไฟดูดทุกปี

นายแพทย์สัญชัย ชาสมบัต  ผู้ช่วยเลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้บาดเจ็บ รวมไฟไหม้ ถูกสารเคมี และไฟฟ้าช็อต รวมทั้งสิ้น 3,959 ราย กรณีถูกไฟฟ้าช็อตมีผู้เสียชีวิตทุกปี ซึ่งปีนี้มีสถิติอยู่ในเกณฑ์เท่าเดิม

ไฟฟ้าดูดเสี่ยงอันตรายถึงเสียชีวิต

ไฟฟ้าดูดจะสามารถก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้อยู่ 3 กรณี อย่างแรกคืออาการไหม้ตามจุดต่างๆของร่างกาย อย่างต่อมาคือกระแสวิ่งไปรบกวนการเต้นของหัวใจ อย่างสุดท้ายกระแสไฟวิ่งไปรบกวนระบบควบคุมการหายใจทำให้หยุดหายใจแล้วก็เสียชีวิต โดยอาการทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณกระแสไฟ หากกระแสไฟฟ้ามีความแรงมากก็จะสามารถทำให้ไฟลุกไหม้ร่างกายได้

 หากพบคนถูกไฟฟ้าดูด เร่งตัดกระแสไฟฟ้า

หากพบเจอผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต สิ่งที่ต้องทำก่อนอย่างแรกคือตัดไฟในจุดที่เกิดเหตุ ถ้าหากไม่สามารถตัดได้ ห้ามเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเด็ดขาด  เนื่องจากอันตรายต่อผู้เข้าไปช่วย แล้วยิ่งกระแสไฟฟ้ามีปริมาณแรงสูงมาก ๆ ไฟฟ้าจะสามารถกระโดดข้ามมาสู่ตัวผู้ช่วยเหลือในระยะใกล้ได้

กรณีในพื้นที่เปียกหลังตัดไฟแล้ว ผู้ช่วยเหลือควรป้องกันตนเองด้วยการใส่รองเท้าทำจากวัสดุที่เป็นยางซึ่งจะไม่นำไฟฟ้าและขยับสายไฟออกไปจากผู้ถูกช็อต จากนั้นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมายังที่ปลอดภัย ถ้าหากผู้ประสบเหตุตกจากที่สูง ต้องระวังเรื่องคอและกระดูกหักในระหว่างการเคลื่อนย้าย นอกจากนี้ต้องดูด้วยว่าผู้ป่วยหัวใจยังเต้นอยู่หรือไม่ โดยใช้นิ้วกดลงที่ต้นคอเพื่อตรวจชีพจร หากไม่รู้สึกถึงชีพจรให้เอาหูแนบไปที่ใกล้ ๆ จมูก ถ้าระบุได้ชัดเจนแล้วว่าไม่หายใจ ให้ทำการปั้มหัวใจ(CPR) ประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที จากนั้นให้รีบนำผู้ป่วยส่งในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพราะต้องดูแลอย่างรวดเร็วและทันที

วิธีป้องกันไฟฟ้าดูดช่วงหน้าฝน

ในช่วงหน้าฝนนั้นสิ่งคัญที่ต้องทำคือ ย้ายปลั๊กไฟให้สูงขึ้นในจุดที่เมื่อน้ำท่วมจะไม่สามารถท่วมขึ้นไปถึงได้ ในกรณีที่ร่างกายถูกฝนมาตัวเปียกไม่ควรไปสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงไม่ควรสัมผัสสวิตช์ไฟ และต้องตรวจเช็คเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านตลอดเวลาว่ามีการชำรุด และฝากเตือนไปยังชาวประมงที่มักจะใช้วิธีช็อตปลาด้วยไฟฟ้าเพื่อจับปลา ตรงนี้ไม่แนะนำให้กระทำดังกล่าว โดยเฉพาะในฤดูฝนเพราะเสี่ยงต่อการโดนไฟฟ้าช็อตอย่างมาก

 

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ