ศาลนัดตัดสินคดีจำนำข้าว ชี้ชะตา “ยิ่งลักษณ์” 25 ส.ค.นี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คดีทุจจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ยับยั้งโครงการดังกล่าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท การไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้ายเสร็จสิ้นในวันนี้

วันนี้ (21 ก.ค.60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นนัดสุดท้ายของการไต่สวนพยานจำเลย คดีจำนำข้าว ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ยับยั้งโครงการดังกล่าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท โดยหน้าศาลมีประชาชนมาให้กำลังใจและมอบดอกไม้ตั้งแต่เช้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลไต่สวนพยาน 3 ปากนานกว่า 5 ชั่วโมงเสร็จสิ้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์โดยขอให้จับตาดูวันแถลงปิดคดี

ส่วนกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้องต่อให้ศาลให้พิจารณาว่าการที่ศาลขอเพิ่มพยานหลักฐานเป็นเอกสารในคดีนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้” เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ใช้ถ้อยคำว่า ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนพยานหลักฐานตามสมควร หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อความที่ปรับแก้ มีความหมายเดียวกัน จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และให้ยกคำร้อง

หลังไต่สวนพยานและพิจารณาคำร้องของจำเลยเสร็จสิ้น ศาลได้นัดให้คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงปิดคดี โดยศาลอนุญาตให้นางสาวยิ่งลักษณ์แถลงปิดคดีด้วยวาจาในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 เวลา 09.30 น. และนัดพิพากษาคดีในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00 น. ซึ่งตรงกับวันพิพากษาคดีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกในคดีทุจิตจำนำข้าวแบบจีทูจี

คดีนี้ศาลไต่สวนพยานโจทก์ และจำเลย รวม 45 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 26 นัด รวมเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน  เริ่มไต่สวนพยานโจทก์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559  ฝ่ายโจทก์ ขอเพิ่มพยาน 21 ครั้ง ไต่สวน 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด  ส่วนฝ่ายจำเลย ขอเพิ่มพยาน 51 ครั้ง ไต่สวน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 15 นัด

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ... ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช. นั้น หากมีผลบังคับใช้ก่อนวันพิพากษาคดีดังกล่าวจะทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้หรือไม่เพราะ มาตรา 59 บัญญัติว่า จำเลยสามารถอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา แต่เมื่อดูบทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายฉบับนี้พบว่า ได้ยกเว้นหมวด 6 เกี่ยวกับเรื่องอุทธรณ์ โดยไม่มีผลบังคับใช้แก่คดีที่ยื่นฟ้องไว้ก่อนร่างกฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้ซึ่งคดีจำนำข้าวได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2558 หากเป็นเช่นนั้นกฎหมายใหม่ฉบับนี้ก็จะไม่มีผลต่อคดีจำนำข้าว

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ