สุริยะใส จี้ ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์ อ้างศาลรธน.เคยชี้ขาด พันธมิตรฯชุมนุมสงบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวันนี้ มีคำอธิบายถึงสาเหตุการยกฟ้องที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ หรือ ฝ่ายรัฐในเวลานั้นได้ปฏิบัติตามขั้นตอน แต่กทม. ไม่ให้ความร่วมมือสนับสนุนรถน้ำจึงไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ทั้งหมดอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯยืนยันว่า มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ หาก ป.ป.ช.จะดำเนินการ   

สำหรับแผนสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2551 หลังกลุ่มพันธมิตรฯเคลื่อนขบวนจากทำเนียบรัฐบาลจุดที่ปักหลักชุมนุมอยู่เกือบ 2 เดือน ไปรวมตัวด้านหน้ารัฐสภาหลังทราบข่าวว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น จะนำคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาในรุ่งขึ้น คือ 7 ตุลาคม ระหว่างเคลื่อนขบวน  นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีพร้อมด้วย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ท่าอากาศยานสนามบินกรุงเทพ(ดอนเมือง) ซึ่งถูกใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว เพื่อหารือแนวทางสลายการชุมนุม องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า จากการสอบพยาน พบว่า หลังการประชุมสรุปว่าจะใช้แผนการรักษาความสงบ หรือ แผนกรกฎ 48 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควบคุมดูแลเหตุการณ์ชุมนุม

 

จากนั้นพล.ต.อ.พัชรวาท จึงนำข้อสั่งการไปแจ้งยัง พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์การสลายการชุมนุม โดยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสนับสนุนกำลังตามที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลร้องขอ

กลุ่มพันธมิตรปักหลักชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาต่อเนื่องจนถึงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม เป้าหมายคือการไม่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา  เหตุการณ์ความวุ่นวายเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้ามืด ทำให้ตำรวจต้องใช้เครื่องเสียงขยายเสียงประชาสัมพันธ์ให้ยุติการชุมนุม แต่เมื่อไม่เป็นผลจึงต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าระงับเหตุ เป้าหมายของตำรวจ คือ การเปิดทางให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา

ในช่วงหนึ่งของการอ่านคำพิพากษา องค์คณะผู้พิพากษา ระบุถึงเอกสารที่ตำรวจขอสนับสนุนรถน้ำของกรุงเทพฯเพื่อใช้ในการสลายการชุมนุม แต่กลับพบว่าไม่ได้รับการสนับสนุน ทำให้การดำเนินการตามแผนกรกฎ 48 ที่ระบุว่า จะต้องดำเนินการจากมาตรการเบาไปหาหนัก คือ จากการเจรจา การใช้โล่กระบอง  การฉีดน้ำ การใช้กระสุนยาง และแก๊สน้ำตา แต่เมื่อไม่ได้รับการสนุบสนุนรถน้ำจากกทม.ทำให้ไม่สามารถทำตามขั้นตอนได้  ในคำพิพากษาระบุว่า จำเลยทั้งหมดได้ดำเนินการตามขั้นตอนเท่าที่จะสามารถทำได้ในขณะนั้นแล้ว แม้ว่าสุดท้ายคณะรัฐมนตรีจะสามารถเข้าไปแถลงนโยบายภายในรัฐสภาได้ แต่เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น ทำให้พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในเวลา 09.00น.


หลังคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายเสร็จ ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเปิดทางอีกครั้งเพื่อให้คณะรัฐมนตรีออกจากรัฐสภา แต่ครั้งนี้ไม่เป็นผลทำให้นายสมชายพร้อมคณะรัฐมนตรี ต้องปีนกำแพงออกจากรัฐสภา ก่อนจะไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ที่พระที่นั่งวิมานเมฆออกจากพื้นที่ไป เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 2 ราย บาดเจ็บรวม 471 คน  การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯยังดำเนินต่อไปจนถึง 2 ธันวาคม 2551  เมื่อผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบรัฐบาล ตำรวจเข้าตรวจสอบพื้นที่ พบระเบิดดินดำจำนวนหนึ่ง นี่เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ทำให้องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา ชี้ขาดว่า จำเลยไม่มีความผิด เพราะการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ


แม้จะน้อมรับคำตัดสินของศาล แต่นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งข้อสังเกตใน 3 ประเด็น และเสนอแนะป.ป.ช.ว่าควรเตรียมยื่นอุทธรณ์คดี โดยนำประเด็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่าการสลายการชุมนุมไปตามหลักสากล ขึ้นมาต่อสู้ เนื่องจากมีข้อมูลว่า ตำรวจปราบจราจลใช้แก๊สน้ำตาหมดอายุ และขั้นตอนการใช้ปืนยิงแก๊สน้ำตาไม่ถูกต้องตามหลักสากล พร้อม อ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และผู้สั่งสลายการชุมนุมไม่ได้เจรจาตามที่กล่าวอ้างกับศาล

แม้คำตัดสินของศาลจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ตามกระบวนการฝ่ายโจทก์ยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีได้ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 30 วัน นับจากวันอ่านคำพิพากษา

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ