"จิรวรรณ จันทสร" พนักงานเก็บค่าโดยสาร ขสมก. เร่งทำความสะอาด เตรียมพร้อมต้อนรับผู้โดยสารชุดใหม่ ซึ่งต้องแข็งกับเวลาที่มีอยู่น้อยนิด เธอบอกกับทีมข่าวพีพีทีวีว่า ยึดอาชีพพนักงานเก็บค่าโดยสาร หรือกระเป๋ารถเมล์มากว่า 10 ปี แต่ละวันใช้เวลาอยู่บนรถ ไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง แม้ว่างานจะค่อนข้างหนักเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง 16,000 บาท ขณะที่โครงการเออร์ลี่รีไทร์ พร้อมค่าชดเชย 1 ล้านบาท ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เธอมองว่า โครงการดังกล่าวอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แม้จำนวนเงินจะมาก แต่บางคนมีภาระหนี้สินไม่เท่ากัน หากใช้จ่ายหมด โอกาสที่จะสมัครงานใหม่ค่อนข้างยาก เนื่องจากอายุมากและวุฒิการศึกษาไม่สูง
สำหรับโครงการนี้เป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปของ ขสมก. เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ คือ การลดพนักงานเก็บค่าโดยสาร 2,000 คน และให้ทดแทนการจัดเก็บค่าโดยสารด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-ticket แต่เธอมองว่า หากระบบนี้เข้ามา อาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้โดยสารที่ไม่เข้าใจระบบและเกิดความผิดพลาดเรื่องเส้นทางได้
สอดคล้องกับ วีระพงษ์ วงแหวน ประธานสหภาพฯ ขสมก. มองว่า ระยะแรกที่ ขสมก.จะนำระบบ e-ticket มาใช้ จำเป็นต้องมีพนักงานเก็บค่าโดยสารเพื่อให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารอยู่
ขณะที่เดือนตุลาคมนี้ ขสมก.จะเริ่มนำรถเมล์ 800 คันที่เริ่มติดตั้ง e-ticket เพื่อรองรับระบบตั๋วร่วมและบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย และคาดว่าจะสามารถติดตั้ง e-ticket ครบ 2,600 คันในช่วงกลางปี 2561 ซึ่งจะเป็นช่วงที่เริ่มโครงการลดพนักงาน
ภูมิภาค แพรม้วน ถ่ายภาพ
เกศินี เขียนวารี รายงาน